พัชนีด้ามงา
พัชนีด้ามงา
สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒
วัสดุ ผ้า และ งา
ขนาด สูง ๙๒ เชนติเมตร
ประวัติ เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือเมื่อทรงผนวช เดิมอยู่ที่วัดบวรนิเวศ
ปัจจุบันเก็บรักษา พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พัชนีหุ้มด้วยผ้าไหม บัวงาจำหลักรูปพานผลไม้ ด้ามงา ตามประวัติระบุว่าพระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือพัชนีด้ามงาเล่มนี้ขณะทรงผนวชเป็นสามเณร ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๖๕)
พัดเล่มนี้เดิมเก็บรักษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประทานพัชนีเล่มนี้ให้ทรงถือ ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงผนวชเป็นสามเณร ได้ทรงถือพัชนีเล่มนี้เช่นเดียวกัน ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานมาเก็บรักษาในหอพุทธสาสนสังคหะ ต่อมาได้เคลื่อนย้ายมาเก็บรักษา ณ หอพิพิธภัณฑสถาน (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน)
พัชนี เดิมเป็นเครื่องยศสำหรับคฤหัสถ์ ตั้งแต่ชั้นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย และขุนนาง ต่อมาถวายให้แก่พระสงฆ์ใช้เป็นสมณบริขาร สำหรับลูกศิษย์พัดวีปรนนิบัติ หรือถือแทนตาลปัตร จึงเกิดเป็นธรรมเนียมพระสงฆ์ผู้มียศชั้นพระราชาคณะ ฐานานุกรม และเจ้าอธิการ ต่างก็ถือพัชนีเป็นเครื่องยศแทนตาลปัตรสืบมาทุกแห่ง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวไม่โปรดใช้พัชนี เพราะมีลักษณะคล้ายจวักเป็นอัปมงคล โปรดให้เลิกใช้พัชนีและใช้พัดขนนกถวายงานแทน พัชนีของหลวงจึงเลิกใช้ไป ต่อมาทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์ยังใช้พัชนีกันอยู่ จึงมีพระบรมราชโองการประกาศให้บรรดาพระสงฆ์ทั้งปวงเลิกใช้พัชนี พร้อมกับทรงพระราชดำริจัดสร้างพัดรองขึ้นสำหรับแทนพัชนีใช้โดยทั่วไป
อ้างอิง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๕๙. (เรียบเรียงทูลเกล้าถวายเมื่อเสด็จเปิดหอพระสมุดสำหรับพระนคร ณ วันเสาร์ที่ ๖ มกราคม ปีมโรง พ.ศ. ๒๔๖๙)
ราชบัณฑิตยสภา. อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณแลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๙.
จารุณี อินเฉิดฉาย. บรรณาธิการ. เมื่อตะวันออกพบตะวันตก: พิพิธสมบัติพระราชา ณ วังหน้า. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ๒๕๕๗. (หนังสือประกอบนิทรรศการพิเศษ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒ กรกฎาคม - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๗)
(จำนวนผู้เข้าชม 492 ครั้ง)