พระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปนาคปรก
ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕
จากวัดประดู่ทรงธรรม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประติมากรรมพระพุทธเจ้า ประทับขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ มีพุทธลักษณะคือ อุษณีษะทรงกรวย เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่ (ส่วนปลายพระนาสิกชำรุดหักหายไป) พระโอษฐ์หนา แย้มพระสรวล พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน มีลักษณะเป็นชายผ้าพับซ้อนทับกัน ประทับเหนือขนดนาค พระปฤษฎางค์มีพังพานนาค ๗ เศียร ปรกพระเศียร ขนาบข้างด้วยรูปสถูปและมีภาพคนแคระรองรับอยู่ใต้สถูป กึ่งกลางฐานล่างสุดเป็นรูปหน้าสิงห์
ประติมากรรมชิ้นนี้สัมพันธ์กับพุทธประวัติภายหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้หกสัปดาห์ เสด็จประทับเข้าสมาบัติเสวยวิมุติสุขใต้ต้นจิก ขณะนั้นเกิดฝนตกนาน ๗ วัน นาคตนหนึ่งนามว่า มุจลินทนาคราช ซึ่งอาศัยอยู่ ณ สระโบกขรณีใกล้ๆ กับที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ได้เลื้อยขึ้นมาจากสระและแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้า ตามข้อความใน ปฐมสมโพธิกถา ระบุตอนนี้ไว้ว่า
“...ผิฉะนั้นอาตมาจะกระทำซึ่งกายป้องกันเสียซึ่งมูลมลทินอย่าให้ถูกต้องพระกรัชกาย* จึงขดเข้าซึ่งขนดกายเป็น ๗ รอบแวดวงองค์พระศาสดาจารย์ แล้วก็แผ่พังพานอันใหญ่ป้องปกเบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์** หวังประโยชน์จะมิให้เย็นและร้อนถูกต้องลมแดด แลฝนเหลือบยุงและสรรพสัปปชาติ ๆ ต่างๆ มาสัมผัสพระกรัชกาย”
เมื่อผ่านพ้นไป ๗ วัน ฝนจึงหยุดตก มุจลินทนาคราชได้คลายขนดนาคและแปลงกายเป็นมนุษย์มาอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงออกจากสมาบัติทรงเปล่งคาถาว่า สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺสฯ ซึ่งมีอรรถาธิบายความว่า “บุคคลอันเห็นมรรคผลวิมุติธรรมปรากฏแล้ว ก็ยินดีในอุปธิวิเวกเป็นเอกอุดมสุขในโลก เว้นจากอาโภคพยาบาทสำรวมในการุญภาพทั่วไปในนิกรสัตว์ทั้งปวง”
นอกจากนี้รูปแบบของประติมากรรมชิ้นนี้ยังมีส่วนที่น่าสนใจ คือรูปสลักสถูปทรงหม้อน้ำทั้งสองข้าง ลักษณะสำคัญคือส่วนกลางของสถูปมีลักษณะเป็นทรงหม้อก้นกลมมีฐานรองรับ ส่วนยอดด้านบนมีฉัตรซ้อนหลายชั้น ลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างของเจดีย์รูปแบบหนึ่งในสมัยทวารวดี (ปัจจุบันเจดีย์สมัยทวารวดีหลายแห่งเหลือเพียงส่วนฐานเท่านั้น)
พระพุทธรูปองค์นี้อัญเชิญมาจากวัดประดู่ทรงธรรม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์โปรดว่าเป็นประติมากรรมที่งามองค์หนึ่ง ดังข้อความในจดหมายของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ถึงอำมาตย์ตรี พระสมัครสโมสร มหาดไทยมณฑลอยุธยา ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...ด้วยพระพุทธรูปสมัยทวารวดีนาคปรกจำหลักในแผ่นศิลาคล้ายใบเสมา มีรูปสถูป ๒ ข้าง ใต้ขนดนาคเปนหน้าสิงห์ ๒ ข้างหน้าสิงห์มีรูปเทวดายกมือรองสถูป อยู่ที่วัดประดู่โรงธรรมซึ่งผมได้ขึ้นมาตรวจเมื่อ ๒-๓ วันนี้นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา ตรัสว่าเปนของดี สมควรจะเชิญเอาลงไปรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ผมจึงได้จดหมายฉบับนี้มาเรียนคุณพระขอให้ช่วยจัดการเอาใส่หีบส่งลงไปทางรถไฟ...”
*กรัชกาย หมายถึง ร่างกาย
**อุตมังคสิโรตม์ หมายถึง ศีรษะ (พระเศียร)
อ้างอิง
ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระ. ปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๓๐. (รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐).
.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔)ศธ ๒.๑.๑/๒๕๙. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เรื่อง ขอให้ช่วยส่งพระพุทธรูปนาคปรกสมัยทวารวดี ซึ่งอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (๒๗ ธ.ค. - ๖ ม.ค. ๒๔๗๔).
(จำนวนผู้เข้าชม 2863 ครั้ง)