พระพิมพ์ปางสมาธิ ขนาบข้างด้วยพระโพธิ์สัตว์
พระพิมพ์ปางสมาธิ ขนาบข้างด้วยพระโพธิ์สัตว์
ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐-๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
ได้มาจากถ้ำเขาขาว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางแสดงพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบแสดงปางสมาธิ บนฐานบัว พระพุทธรูปมีอุณีษะนูน พระเกศาเรียบ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ครองจีวรห่มเฉียง ทรงประทับใต้ฉัตร ขนาบทั้งสองข้างด้วยบริวาร (ซึ่งอาจหมายถึงพระโพธิ์สัตว์) ในท่ายืนตริภังค์บนฐานบัว ถือดอกบัวก้านยาวเหนือเกสรดอกบัวมีพระพุทธรูปแสดงปางสมาธิ พระเศียรของบริวารมีศิรประภาล้อมรอบ ท่อนล่างแสดงการนุ่งผ้ายาวเกือบถึงข้อพระบาท ระหว่างพระพุทธรูปกับพระสาวกคั่นด้วยสถูปทั้งสองข้าง ส่วนซี่ฉัตรมีก้านยื่นออกเป็นดอกไม้รองรับพระพุทธรูปปางสมาธิข้างละหนึ่งองค์ และด้านบนฉัตรยังปรากฏพระพุทธรูปปางสมาธิอีกสององค์ ขอบพระพิมพ์ทั้งสองด้านมีสถูปรูปทรงคล้ายหม้อน้ำ ส่วนยอดสถูปยืดสูง
พระพิมพ์ชิ้นนี้เป็นหนึ่งในบรรดาพระพิมพ์ที่พบในพื้นที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งปรากฏแหล่งที่พบพระพิมพ์จำนวนมาก โดยเฉพาะที่ถ้ำเขาสายและถ้ำวัดคีรีวิหาร (วัดหาร) อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และแสดงถึงการนับถือพุทธศาสนามหายานอย่างชัดเจน เนื่องจากพระพิมพ์ที่พบนั้น บางชิ้นเป็นรูปพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กรและพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๑๒ กร อีกทั้งยังพบพระพิมพ์รูปแบบเดียวกันนี้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง* ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการแพร่กระจายตามเส้นทางข้ามคาบสมุทร ดังนั้นการนับถือพุทธศาสนามหายานจึงปรากฏทั้งในพื้นที่ชุมชนฝั่งอ่าวไทยและอันดามันในสมัยศรีวิชัย โดยมีปัจจัยสำคัญคือการค้าข้ามคาบสมุทร
นอกจากนี้ในเอกสารตรวจราชการของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๔๕ และจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๔๕๒ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖* ยังกล่าวถึงพระพิมพ์ในพื้นที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังไว้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะที่ถ้ำวัดคีรีวิหารนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพรรนาถึงพระพิมพ์แบบหนึ่งไว้ความว่า “..รูปแผ่นอิฐอย่างหนึ่ง มีรูปพระสองกรอยู่กลาง (ที่พุทธรูป) มีสาวกฤๅเทวดาสองข้าง...” สันนิษฐานว่าอาจหมายถึงพระพิมพ์รูปแบบเดียวกันนี้
*ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
**เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๑. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 582 ครั้ง)