พระพิมพ์ปางสมาธิ ขนาบข้างด้วยธรรมจักรและสถูป
พระพิมพ์ปางสมาธิ ขนาบข้างด้วยธรรมจักรและสถูป
ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐-๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)
ได้มาจากเขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุง
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพิมพ์ดินดิบ กรอบทรงสี่เหลี่ยมยอดโค้งมน คล้ายกลีบบัว ขอบพระพิมพ์หนาและเรียบ กึ่งกลางเป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ บนฐานบัวหงาย ที่เศียรพระพุทธรูปปรากฏศิรประภา* เหนือขึ้นไปเป็นรูปต้นไม้ซึ่งน่าจะหมายถึงโพธิพฤกษ์ (ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ขณะตรัสรู้) ด้านขวาของพระพุทธรูปคือธรรมจักร (หันด้านข้าง) ตั้งอยู่บนเสา และด้านซ้ายเป็นสถูปทรงระฆัง ลักษณะองค์ระฆังยืดสูง ส่วนยอดประกอบด้วยบัลลังก์ ก้านฉัตร และปล้องไฉน และปลียอด พระพิมพ์รูปแบบนี้พบแพร่หลายในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้อีกหลายแห่ง เช่น ถ้ำเขานุ้ย อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และเมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
*ศิรประภา หมายถึง รัศมีที่เปล่งรอบศีรษะของผู้ศักดิ์สิทธิ์และพระพุทธรูป
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.
หมายเหตุ อ่านประเด็นการทำพระพิมพ์ดินดิบและการพบพระพิมพ์ที่เขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุงได้ใน : https://www.facebook.com/photo/?fbid=5313161458736037&set=a.5313162775402572
(จำนวนผู้เข้าชม 695 ครั้ง)