ประติมากรรมรูปช้างมีบุคคลขี่อยู่บนหลัง
ประติมากรรมรูปช้างมีบุคคลขี่อยู่บนหลัง
พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
ได้มาจากจังหวัดสวรรคโลก กระทรวงมหาดไทยส่งมาให้
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประติมากรรมดินเผาเคลือบสีเขียวมีรอยแตกราน รูปช้างชูงวงที่รัดดอกบัวขึ้น ขาหลังย่อตัวลง บนหลังช้างมีพานเชิงสี่เหลี่ยม และบุคคลนั่งอยู่คล้ายกับเป็นควาญท้าย ตัวช้างยืนอยู่บนแผ่นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ
ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นตัวอย่างงานที่ผลิตขึ้นจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่สำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ มีแหล่งเตาสำคัญสองแห่งคือ แหล่งเตาป่ายางและแหล่งเตาบ้านเกาะน้อย ผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเหล่านี้พบทั้งประเภทภาชนะ อาทิ ชาม จาน กระปุก ไห ตลับ ฯลฯ ประเภทเครื่องประดับสถาปัตยกรรม อาทิ หน้าจั่ว บราลี กระเบื้องเชิงชาย ฯลฯ และประเภทประติมากรรม อาทิ รูปบุคคล หมากรุก และรูปสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะประติมากรรมรูปช้างนั้นพบทั้งสองแหล่งเตา ทั้งแบบเทคนิคเคลือบสีเขียว เทคนิคเคลือบสีน้ำตาล และเทคนิคเคลือบสองสี
สำหรับคำว่า “สังโลก” นั้นมีข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อเรียกต่างกันออกไป โดยแนวคิดแรก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า “ซ้องโกลก” ซึ่งแปลว่าเตาแผ่นดินซ้อง* ขณะที่แนวคิดที่สองคือ ชารล์ เนลสัน สปิงส์ (Charles Nelson Spinks) เชื่อว่ามาจากคำว่า “สวรรคโลก”**
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสนพระราชหฤทัยเครื่องสังคโลกจากเมืองสุโขทัยอย่างมาก ด้วยมีพระประสงค์จะนำมาจัดแสดงในมิวเซียมหลวง*** ดังข้อความในพระราชหัตถ์เลขา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๘ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...ด้วยถ้วยชามสังคโลกต่าง ๆ ฃ้างเมืองเหนือเหนจะยังมีมาก หยากจะได้มาเกบไนมิวเซียม เปนที่คนต่างประเทศมาดูมาก ๆ ฃอให้ทรงมีตราไปให้เจ้าเมืองกรรมการสืบหา แต่กลัวจะไปกดขี่เอาแก่ราษฎร ฤๅหลอกลวงเอาถ้วยชามอื่น ๆ ที่เคยเปนมาแล้ว ฤๅจะให้ใครฃึ้นไปคิดอ่านจัดซื้อเสียต่างหากก็ตาม สุดแต่อย่าให้เปนต้องพระราชประสงค์แล้วฃ่มเหงเอา ถึงที่เจ้าเมืองกรมการจะหามาก็ให้เปนจัดซื้อทั้งสิ้น ฃอให้ทรงจัดให้ดีด้วย ถึงเปนของแตกเปนซีกแต่ใหญ่โต ฤๅที่เปนฃองเสียในเวลาเผา คือติดกันเลอะไปบ้าง เบี้ยวแฟบไปบ้างอย่างหนึ่งอย่างใดใช้ได้ทั้งนั้น...”
เดือนถัดมาทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้แจ้งไปยังพระยาวิชิตภักดีผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลกให้ดำเนินการค้นหาเครื่องสังคโลก และจัดซื้อเครื่องสังโลกที่ประชาชนเก็บรักษาไว้ส่งไปยังมิวเซียมที่พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ และในเดือนกันยายนพระยาวิชิตภักดีได้ทูลเกล้า ถวายรายงานว่าได้จัดหาเครื่องสังคโลกแล้ว ดังข้อความว่า
“...แต่งให้กรมการคุมมาส่ง ฉะบับ ๑ ว่าได้รับตราพระราชสีห์ว่าต้องพระราชประสงค์ชามถ้วยโถสังคโลกนั้นได้จัดหาซื้อได้ ชาม ๕ จาน ๓ ขวด ๔ ถ้วย ๑ ให้กรมการคุมลงมาทูลเกล้า ฯ ถวายครั้งหนึ่งก่อน...”
*คำว่า “ซ้อง” ในที่นี้หมายถึง ราชวงศ์ซ้อง หรือ ซ่ง ซึ่งปกครองแผ่นดินจีนระหว่าง พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๒๒
** สวรรคโลก เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาตัวอย่างเช่น “พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง” มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเจ้าเมืองสวรรคโลก (เมืองศรีสัชนาลัย) ว่า “...ออกญากระเสตรสงครามรามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาไลยอภัยพิริยบรากรมภาหุ พญาสวรรคโลก...”
***ขณะนั้น มิวเซียมหลวงอยู่ที่ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง
อ้างอิง
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุพระราชกรณียกิจรายวันภาค ๑๙. พิมพ์ครั้งที่ ๒.ธนบุรี: สุทธิสารการพิมพ์, ๒๕๑๓ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานพลิงศพ นายถม สังข์กังวาน ณ เมรุวัดหัวลำโพง พระนคร วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓).
ธันยกานต์ วงษ์อ่อน และปริวรรต ธรรมาปรีชากร. เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยและศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: S.P.M. การพิมพ์, ๒๕๕๘.
วินัย พงศรีเพียร. “ศรีสัชนาลัย เชลียง และสวรรคโลก ในหลักฐานประวัติศาสตร์ไทย” ใน ข้อมูลใหม่และทัศนะใหม่ด้านสุโขทัยศึกษา (สุมาลี บำรุงสุข บรรณาธิการ). นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๓๙.
สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ รล.-ตราน้อย เล่ม ๗/๑๑๔. เอกสารเย็บเล่ม ตราน้อย รัชกาลที่ ๕ เรื่อง ที่ ๑๑๔ เมืองสวรรคโลกย์ให้จัดซื้อชาม โถ ถ้วย ไห สังคโลกต่าง ๆ แต่งกรมการคุมลงมาส่ง ณ กรุงเทพฯ.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ บ.1.2/๑๒. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ เบ็ดเตล็ด เรื่องพระราชกระแสโปรดฯ ให้รวบรวมถ้วยชามสังคโลกจากหัวเมืองเหนือมาจัดเป็นมิวเซียม.
(จำนวนผู้เข้าชม 1157 ครั้ง)