กระโถนค่อมเขียนลายสุวรรณมัจฉา
กระโถนค่อมเขียนลายสุวรรณมัจฉา
สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ พุทธศักราช ๒๔๒๓
ได้รับมอบจากคุณ วราห์ โรจนวิภาต
ปัจจุบันจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถึงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
กระโถนลายน้ำทองขนาดเล็กเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ลักษณะทรงค่อมปากกว้าง ลำตัวสอบลง คอกระโถนเขียนแถบเส้นสีแดง ตัวกระโถนเขียนรูปนางสุพรรณมัจฉาถือดอกบัว (ลักษณะเป็นเงือกท่อนบนตั้งแต่ศีรษะลงไปถึงเอวเป็นมนุษย์ สวมเครื่องประดับอาทิ รัดเกล้ามีกรรเจียกจร กรองศอ สังวาล พาหุรัดและทองกร ท่อนล่างเป็นลำตัวปลามีหาง มีครีบ) อีกด้านหนึ่งเป็นรูปมัจฉานุ ท่ามกลางกอบัวและหมู่มัจฉา ขอบกระโถนด้านบนและล่างเขียนแถบลายลูกขนาบดอกสี่กลีบบนพื้นสีทองและด้านล่างเป็นแถบเส้นสีทอง กึ่งกลางก้นกระโถนด้านนอก เขียนตัวเลข ๑๒๔๒ ซึ่งหมายถึงจุลศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๒๓
กระโถนเป็นภาชนะในวัฒนธรรมไทยมีหลายขนาด หากเป็นใบเล็กนิยมใช้บ้วนน้ำหมาก สำหรับกระโถนใบนี้ เขียนขึ้นโดยช่างไทยเอง กล่าวคือเขียนลายน้ำทอง คือการเขียนสีผสมน้ำเคลือบลงบนผิวภาชนะ ปรากฏหลายสีตัดเส้นด้วยสีทอง ส่วนรูปที่ปรากฏบนกระโถนนั้นคือรูปนางสุพรรณมัจฉา และมัจฉานุ ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ โดยนางสุพรรณมัจฉาเป็นธิดาของทศกัณฐ์ อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ได้พาฝูงปลามาทำลายแผนการทำถนนไปยังกรุงลงกาของฝ่ายพระรามตามคำสั่งของทศกัณฐ์ โดยการลักลอบนำหินที่ถมไว้นั้นออกเสีย กระทั่งหนุมานล่วงรู้และได้ขับไล่ฝูงปลาและตามจับนางสุพรรณมัจฉาได้ นางสุพรรณมัจฉาได้สารภาพต่อหนุมานและให้ฝูงปลาคาบเอาหินกลับมาถมคืนดังเดิม ต่อมานางก็ได้กลายเป็นภรรยาหนุมานและให้กำเนิดบุตรขึ้นมานามว่า มัจฉานุ มีรูปลักษณ์ท่อนบนเป็นลิง ท่อนลางเป็นปลา จากนั้นนางได้เล่าเรื่องหนุมานให้มัจฉานุฟังแล้วจึงกลับสู่มหาสมุทรไป มัจฉานุได้เที่ยวเล่นไปจนไมยราพมาพบโดยบังเอิญจึงรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาเมื่อพระรามถูกจับไปขังไว้ที่เมืองบาดาลของไมยราพ หนุมานตามลงไปและพบกับมัจฉานุเฝ้าด่านหน้าอยู่ทั้งสองเข้าต่อสู้กัน แต่ไม่มีฝ่ายใดเพลี้ยงพล้ำจึงซักไซ้ถามชื่อกระทั่งรู้ว่าเป็นพ่อ-ลูกกันในที่สุด
กระโถนใบนี้เป็นตัวอย่างของภาชนะเครื่องเคลือบที่เขียนระบายสีและเผาที่พระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งศักราชที่ปรากฏอยู่ใต้ก้นกระโถนนั้นน่าจะหมายถึงปีที่ผลิตขึ้น กล่าวคือในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ โปรดให้มีการตั้งเตาขึ้นในพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคล และทำภาชนะเครื่องเคลือบเขียนสีขึ้นเองโดยฝีมือคนไทย* (ซึ่งก่อนหน้าช่วงเวลานี้ไทยต้องสั่งภาชนะเครื่องเคลือบจากเมืองจีน) แต่ดำเนินการผลิตอยู่เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็เลิกทำไป สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเตาวังหน้าไว้ว่า
“...เตาของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เอาหุ่นเครื่องถ้วยสีขาวของจีนมาเขียนสีนอกเคลือบ ทำลายน้ำทองโดยมาก ผูกลายไทย ต่าง ๆ มาเขียน ทำได้งามดีมาก แต่ทำเป็นของถวายบ้าง ของใช้บ้าง แจกบ้าง ไม่ถึงซื้อขาย ทำอยู่คราวหนึ่งก็เลิก แต่ตัวอย่างของยังมีอีกมาก มักเป็นกระโถนค่อม และถ้วยชาเป็นพื้น...”
นอกจากภาชนะเครื่องเคลือบแล้ว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญยังโปรดให้มีการตั้งโรงงานการช่างในพระราชวังบวรรสถานมงคลขึ้นหลายแขนง ด้วยเหตุที่พระองค์โปรดการช่างต่าง ๆ ดังความใน “ตำนานวังหน้า” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า
“...กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดในการช่างต่าง ๆ มาแต่เดิม ทรงจัดตั้งโรงงานการช่างขึ้นในวังหน้าหลายอย่าง ทั้งช่างหล่อ ช่างกลึง ช่างเคลือบ ของที่ทรงประดิษฐ์คิดทำขึ้นล้วนเป็นฝีมืออย่างประณีตจะหาเสมอได้โดยยาก...”
ข้อความดังกล่าวยังสอดคล้องกับพระประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลโปรดทำสิ่งของต่าง ๆ ทูลเกล้าถวายดังข้อความ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค ๑๑ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...วันที่ ๔๔๗๒ วันจันทร์ ขึ้นเก้าค่ำ เดือนสาม ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ [ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๓-ผู้เขียน] บ่ายโมงเศษ กรมมหาดเล็ก กรมหมอ ถวายของถวายผ้าขาว พระยานรรัตน์ถวายกระโถนเขียนลายและรูปภาพต่าง ๆ และกล่องจันทน์ และของอื่น ๆ อีกหลายสิ่งที่โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทำ...”
*เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต เตาเผาภาชนะเครื่องเคลือบของพระราชวังบวรสถานมงคลก็ปิดตัวลง ไม่ได้มีการสืบทอดทำต่อมาอีก
อ้างอิง
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค 11 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๘, (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงเผาศพ หม่อมอ่อน รพีพัฒน์ ณ วัดประทุมวนาราม เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘).
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น. พระนคร: รุ่งเรืองรัตน์, ๒๕๐๘ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระศุลีสวามิภักดิ์ (เศวตร์ พราหมณะนันทน์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘).
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานวังหน้า. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพฯ: แสงดาว, ๒๕๕๓.
พิกุล ทองน้อย. รามเกียรติ์ร้อยแก้วประกอบคำกลอน (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑) ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๖๑.
The Fine Arts Department. The Endless Epic of Japanese-Thai Ceramic Relationship in the World’s Trade and Culture (CATALOGUE). Bangkok: Central Administrative Office, The Fine Arts Department, 2022.
(จำนวนผู้เข้าชม 637 ครั้ง)