หัวโขนหน้าหนุมาน
หัวโขนหน้าหนุมาน
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ (ประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว)
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
หัวโขนหนุมานประดับด้วยมุกไฟแทนผิวกายสีขาว (เพราะเป็นลิงเผือก) ปากอ้า สวมเกี้ยวทอง ด้านข้างประดับกรรเจียกจร
ขั้นตอนการทำหัวโขนประดับมุกนั้นมีความซับซ้อนกว่าการทำหัวโขนแบบปกติ โดยเริ่มจากการปั้นหุ่นด้วยดินเหนียว จากนั้นจึงพอกหุ่นด้วยกระดาษข่อย ขั้นตอนถัดมาคือการผ่าหุ่นแล้วนำมาติดกับมุก ซึ่งตัดมาจากเปลือกหอยที่มีความแวววาว เช่น หอยมุกไฟ หอยโข่ง หอยอูด ช่างจะตัดเปลือกหอยให้มีรูปทรงเข้ากับความโค้ง ความลาด ของศีรษะและใบหน้าหนุมาน จากนั้นจึงนำแผ่นมุกติดลงบนพื้นผิวหัวโขน ซึ่งแต่ละชิ้นต้องติดให้พอดีกับเส้นที่ร่างไว้ เพื่อให้มุกแต่ละชิ้นสนิทกันแล้วจึงทำการขัดให้ขึ้นเงา หรืออาจขัดเอามุกส่วนเกินออก
ขั้นตอนที่เหลือจึงคล้ายกับการทำหัวโขนแบบปกติ คือการทำเครื่องประกอบศีรษะ (เครื่องประดับ) ด้วยรักกระแหนะ การลงสีฝุ่น และการประดับกระจก ด้วยกรรมวิธีการทำที่สลับซับซ้อน ประกอบกับวัสดุที่ใช้นั้นเป็นของหายากมีราคาแพง จึงมีหัวโขนประดับมุกไม่มากนัก ที่สำคัญคือ ประมาณกลาง พ.ศ. ๒๕๑๓ นายชิต แก้วดวงใหญ่ ได้ทำหัวโขนหนุมานประดับมุกขึ้นใหม่ จำนวน ๒ ชิ้น และปัจจุบันก็มีผู้อื่นสร้างเพิ่มขึ้นอีกนับเป็นการที่สืบทอดการทำหัวโขนประดับมุกอย่างโบราณ
หัวโขนหน้าหนุมานชิ้นนี้น่าจะเป็นของที่ใช้ประดับตกแต่งมิได้ใช้สวมในการแสดงโขนจริงๆ เนื่องจากมีน้ำหนักมาก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เนื่องจากเป็นยุคทองแห่งศิลปะการดนตรี นาฏศิลป์และวรรณคดี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เคยจัดแสดงในมิวเซียมหลวงหรือหอคองคอเดีย (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม) ในพระบรมมหาราชวัง ดังปรากฏในเรื่อง ความเจริญของกรุงสยาม (ตีพิมพ์ในดรุโณวาท เมื่อวันอังคาร เดือนกันยายน แรม ๑๑ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๑๗) กล่าวถึงสิ่งของต่าง ๆ ที่จัดแสดงอยู่ในหอคองคอเดีย ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “...ต่อไปโต๊ะตั้งศีศะโขนประดับมุกแลปิดทอง ดูผุดผ่องเปนของประหลาด...” กระทั่งเมื่อย้ายพิพิธภัณฑ์มายังพระราชวังบวรสถานมงคล และต่อมาได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ศีรษะโขนหน้าหนุมานประดับมุกชิ้นนี้ยังคงจัดแสดงมาตลอด ในบางโอกาสได้เคยถูกนำไปจัดนิทรรศการพิเศษในต่างประเทศอีกด้วย
อ้างอิง
กรมศิลปากร. นิทรรศการหัวโขน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๑๔
กรมศิลปากร. ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๕.
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). ดรุโณวาท เล่มที่ ๑ นำเบอร์ ๑๔๐ วันอังคารเดือน ๑๐ แรม ๑๑ ค่ำปีจอฉศก ๑๒๓๖แผ่นที่ ๑๔ [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๕ จาก: http://valuablebook2.tkpark.or.th/.../Daru.../flipbook1.html
(จำนวนผู้เข้าชม 11521 ครั้ง)