...

ชามเบญจรงค์ลายเทพนมและครุฑ

       ชามเบญจรงค์ลายเทพนมและครุฑ
      สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
      สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
     ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นล่าง) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
      ชามเบญจรงค์ ก้นลึก ด้านนอกชามเขียนลายเทพพนมและครุฑคั่นด้วยลายก้านขดบนพื้นสีแดง ลายเทพนมลักษณะเป็นเทวดาครึ่งองค์ แสดงการทรงเครื่อง สวมมงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร กรองศอ สร้อยสังวาลและทองกร ท่อนล่างเป็นช่อดอกไม้ ส่วนครุฑทำท่าสยายปีก สวมเครื่องประดับ ปากชามผายเขียนลายดอกไม้สีชมพูบนพื้นสีเขียว ขอบปากชามเลี่ยมทองเหลือง ตัวชามสอบลง ขอบก้นชามเลี่ยมทองเหลืองเช่นกัน 
      คำว่า “เบญจรงค์” เป็นคำภาษาสันสกฤตสองคำคือ คำว่า “เบญจ” (ห้า) และคำว่า “รงค์” (สี) จึงหมายถึงสิ่งที่มี ๕ สี สันนิษฐานว่าเบญจรงค์เป็นคำที่ใช้เรียกเครื่องภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมจีนที่ตกแต่งบนผิวภาชนะด้วยห้าสี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีดำ สีขาว และสีเขียว ซึ่งมีชื่อเรียกภาชนะประเภทนี้ว่า “อู่ไฉ่” (Wucai)* อย่างไรก็ตามเครื่องเบญจรงค์ไม่จำเป็นต้องมี ๕ สีเสมอไป เนื่องจากภาชนะบางชิ้นปรากฏสีบนภาชนะมากกว่า ๕ สี และมีสีที่เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น สีชมพู สีฟ้า เป็นต้น สะท้อนถึงความสามารถของช่างที่ตกแต่งได้หลายสีด้วยเทคนิคการเขียนสีผสมเคลือบ (Enamel) 
      โดยเครื่องเบญจรงค์น่าจะเป็นของใช้ในราชสำนักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับความนิยมในหมู่ราชสำนักสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ปรากฏในคำอธิบายเรื่อง “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒” ฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
      “...ของซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒ มีอิกอย่าง ๑ คือ เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ แลลายน้ำทอง เครื่องเบญจรงค์ครั้งกรุงเก่าที่ไทยให้อย่างลายให้ทำ มีแต่ลายเทพพนมนรสิงห์ พื้นนอกสีดำ ข้างในสีเขียว ครั้งรัชกาลที่ ๑ ได้เริ่มให้อย่างไปทำลายแลสีแปลกออกไปบ้าง แต่ของที่ดีเช่นถ้วยชามลายน้ำทอง ผูกลวดลายเปนดอกกุหลาบแลดอกไม้อื่น ๆ แลโถชามเบญจรงค์เปลี่ยนเปนสีต่าง ๆ เปนรูปต่าง ๆ คือ ราชสีห์และครุธ เปนต้น มามีขึ้นในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งนับว่าเปนของอย่างเอกที่พบอยู่ในเวลานี้ แต่จะเริ่มทำเมื่อปีไรไม่พบจดหมายเหตุ จึงไม่ได้ลงไว้ตามศักราช เครื่องลายน้ำทองแลเบญจรงค์ที่ทำต่อมา ลวดลายแลฝีมือทำสู้ครั้งรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้...”
      แม้กระทั่งวรรณคดีในสมัยรัชกาลที่ ๒ ยังกล่าวถึง “เครื่องเบญจรงค์” ด้วยเช่นกัน ดังตัวอย่างในโคลงนิราศนรินทร์ โดยนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยมหาดเล็กของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในคราวที่ยกทัพไปรับศึกพม่าที่เมืองชุมพร เนื้อเรื่องตอนนี้กล่าวถึงระหว่างทางที่นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) กำลังเดินทางจากบ้านแหลมไปยังเมืองเพชรบุรี ได้พรรณาถึงนางเป็นที่รัก ดังความว่า
 
๏ พิศพานจานแจ่มเจ้า เบญจรงค์ รัตน์เอย
โหยบ่เห็นอนงค์ นั่งน้อม
นพนิตแน่งนางผจง จัดมอบ มาฤๅ
จากรักจากรสพร้อม ไพร่ใช้ชายเคียง ฯ
 
      แหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พบว่าน่าจะมาจากแหล่งเตาในประเทศจีน บริเวณพื้นที่จีนตอนใต้ ได้แก่ เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี เมืองเฉวียนโจว เมืองจางโจม มณฑลฝูเจี้ยน เมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) เมืองกว่างโจว และเมืองฝอซาน (ฝัวซาน) มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) โดยทางไทยน่าจะให้ช่างเขียนลายต้นแบบ อาทิ รูปสัตว์หิมพานต์ เทวดา เทพนม ลายกนก ส่งไปให้ช่างจีนทำ ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการเดียวกับการสั่งซื้อ “ผ้าลายอย่าง” จากอินเดีย ที่บนผืนผ้าปรากฏลวดลายอย่างไทย
 
*เครื่องภาชนะดินเผาแบบอู่ไฉ่ (Wucai) เป็นที่นิยมในรัชสมัยจักรพรรดิว่านลี่ (Wan-li Emperor) แห่งราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty) ประมาณ พ.ศ. ๒๑๑๖-๒๑๖๓ และน่าจะเป็นต้นแบบของการทำเครื่องเบญจรงค์ส่งออกมาที่ไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น
 
 
อ้างอิง
กรมศิลปากร. ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๕.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๖. พระนคร: บุญส่งการพิมพ์, ๒๕๑๑ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลเรือเอก หลวงอาจณรงค์(อิง ช่วงสุวนิช) ป.ช. , ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๑).
ดอว์น เอฟ, รูนีย์. เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุคส์, ๒๕๖๐.
นรินทร์ธิเบศร์ (อิน). นิราศนรินทร์. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๖๓.

(จำนวนผู้เข้าชม 5332 ครั้ง)