...

เฉลวและขุนเพ็ด จิตรกรรมสีฝุ่นบนตู้พระธรรม

      เฉลวและขุนเพ็ด จิตรกรรมสีฝุ่นบนตู้พระธรรม

      สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓

      สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      ปัจจุบันจัดแสดงอยู่บนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      ภาพวิถีชีวิตบนตู้พระธรรมเขียนด้วยสีฝุ่นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานสืบข่าวนางสีดาที่กรุงลงกา ตอนล่างของเป็นภาพชุมชนนอกกำแพงเมืองกรุงลงกา มีภาพเด็กชายห้อยขุนเพ็ดที่เอวสองคน และมีการประดับเฉลวที่ชานหลังคา 

      เฉลว (ตะเหลว ตะแหลว ตำแหลว) เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่งทำด้วยตอก นำมาขัดเป็นมุม ๆ ตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป มีทั้งแบบ “เฉลวขนาดเล็ก” สำหรับปักใบตองที่ปิดปากหม้อยา ซึ่งเชื่อว่าสามารถปัดเป่าผีร้ายหรือป้องกันนักสิทธิ์ วิทยาธรมิให้มาแย่งเอาฤทธิ์ของว่านยาในหม้อนั้น รวมทั้งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าหม้อยาใบนี้ปรุงไว้อย่างเฉพาะกรรมวิธีไม่ต้องการให้ใครมายุ่งเกี่ยว และ “เฉลวขนาดใหญ่” ใช้ปักไว้บนเสาหรือแขวนไว้อยู่ชานหลังคา เป็นเครื่องหมายป้องกันสิ่งชั่วร้ายหรือผีปีศาจ มิให้เข้ามากล้ำกราย

     อีกทั้งเฉลวยังเป็นเครื่องหมายเกี่ยวข้องกับด่านเก็บภาษีดังปรากฏในนิราศนรินทร์ ของนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ช่วงที่เดินทางผ่านย่านคลองด่าน (ปัจจุบันคือบริเวณปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ) ไปยังวัดนางนอง ความว่า

 

๏ มาด่านด่านบ่ร้อง เรียกพัก พลเลย

ตาหลิ่งตาเหลวปัก ปิดไว้

 

      นอกจากนี้ในบางกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือยังเชื่อว่าเฉลวเป็นเครื่องหมายที่แบ่งแยกระหว่างพื้นที่ของคนเป็นกับผู้วายชนม์ ซึ่งพระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในจดหมายถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “...ที่ประเพณีชาวพายัพและอีศานมีปักเฉลว ในเมื่อยกศพออกจากบ้านไปแล้ว ก็คงเป็นกั้นรั้วกันไม่ให้ผีกลับเข้ามาได้...”

      ส่วน “ขุนเพ็ด” คือรูปจำลองของลับเพศชายขนาดต่าง ๆ ส่วนใหญ่แกะสลักจากไม้ (กรณีใช้เป็นของแก้บนที่ศาลเจ้า จะเรียกว่า “ดอกไม้เจ้า”) การห้อยขุนเพ็ดทำโดยเจาะรูที่โคน และร้อยเชือก หรือสายสร้อยผูกไว้ที่เอว เชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางที่ป้องกันเสนียดจัญไรสำหรับเด็กชาย บางครั้งก็เรียกปลัดขิก หรือทองระอา หากเป็นเครื่องแต่งกายของเจ้านายจะเรียกว่า “ทองพระขุน” การประดับขุนเพ็ดมีหลักฐานกล่าวถึงชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฏในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวว่าในงานย่านป่าขันเงินที่นิยมขายเครื่องโลหะต่าง ๆ มีขุนเพ็ดจำหน่ายด้วยเช่นกัน 

     ทั้งนี้การที่เด็กห้อยขุนเพ็ดนั้น ประการหนึ่งอาจมาจากความเชื่อที่ต้องการทำให้ผีเกลียดชังเพื่อไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับเด็ก ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “...เด็กผูกขุนเพ็ดก็ดี ฤๅที่คนทำขุนเพ็ดไปถวายเจ้าก็ดี ก็น่าจะมาโดยคติอันเดียวกัน โดยประสงค์จะให้ผีชังเด็กนั้น แลให้เจ้าชังคนที่เอาขุนเพ็ดถวาย ไม่ต้องการเอาไปเมืองผี มิใช่ถวายเพราะเจ้าจะชอบพอขุนเพ็ดอย่างใด...”

    ทั้งเฉลวและขุนเพ็ด เป็นตัวอย่างของเครื่องรางหรือวัตถุที่ป้องกันสิ่งชั่วร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บ ตามความเชื่อของคนไทยว่าผีร้ายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยแก่มนุษย์ เช่น ผีห่า-อหิวาตกโรค และโรคแม่ซื้อที่เกิดกับเด็กเล็ก เป็นต้น สามารถชมตัวอย่างเครื่องรางเหล่านี้กับเรื่องราวของการรักษาโรคด้วยผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ ได้ในนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พ.ศ. ๒๕๖๕ เรื่อง อาโรคยปณิธาน ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ถึง วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. อาโรคยปณิธาน. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๕.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา, บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่ม ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป, ๒๕๕๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 991 ครั้ง)