...

พระพุทธรูปยืนแสดงปางถวายเนตร

       พระพุทธรูปยืนแสดงปางถวายเนตร

       สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๔๕๒

       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้สร้างขึ้นไว้เป็นต้นแบบ

       ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       พระพุทธรูปยืนแสดงปางถวายเนตร เป็นงานประติมากรรมปูนปั้นลงสี พุทธลักษณะมีความเสมือนจริงซึ่งเลียนแบบมาจากพระพุทธรูปในศิลปะอินเดียแบบคันธาระ อาทิ พระเกศารวบขึ้นเป็นมวย ครองจีวรแบบห่มคลุม จีวรแสดงรอยยับของผ้า นิ้วพระหัตถ์และพระบาทมีลักษณะเหมือนจริง ทรงยืนเหนือฐานบัวมีเกสร ซึ่งการแสดงปางถวายเนตรนั้น มีที่มาจากเรื่องราวในพุทธประวัติกล่าวว่า สัปดาห์ที่สองหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์เสด็จประทับ ณ อนิมิสเจดีย์ โดยทรงยืนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงลืมพระเนตรโดยไม่กะพริบ (ปัจจุบันพระพุทธรูปปางนี้ เป็นพระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์)

       การสร้างพระพุทธรูปอินเดียแบบศิลปะคันธาระ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นเนื่องจากพระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้สร้างพระพุทธรูปที่มีลักษณะเสมือนมนุษย์จริง อาทิ พระเศียรไม่ปรากฏพระรัศมีและอุษณีษะ แต่แสดงการเกล้าผมขึ้นเป็นมวย พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อ และครองจีวรหนา ริ้วจีวรแบบธรรมชาติ ซึ่งต่างจากการสร้างพระพุทธรูปตามแบบมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการในงานศิลปะไทยประเพณี โดย นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ประติมากรชาวอิตาลีเป็นผู้ปั้น นอกจากนี้มีตัวอย่างประติมากรรมสำคัญชิ้นอื่น อาทิ พระพุทธรูปปางขอฝน ซึ่งมีพุทธศิลป์เช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางถวายเนตรองค์นี้

       พระพุทธรูปปางถวายเนตรองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นผู้ดำริแบบอย่างไว้ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้ประดิษฐานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระศรีมหาโพธิ์ วัดเบญจมบพิตร อีกทั้งมีพระราชประสงค์จัดสร้างขึ้นเพื่อทรงพระราชอุทิศให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชที่สิ้นพระชนม์ไปเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ 

       ส่วนพุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นไปตามพระราชประสงค์ดังปรากฏลายพระหัตถ์ความตอนหนึ่งว่า “...อยากเห็นพระเป็นคน อยากให้เห็นหน้าเป็นคน ฉลาด อดทนมีความคิดมาก ไม่ใช่ทำหน้าบึ้ง ไม่ใช่นั่งยิ้มกริ่ม ไม่ใช่นั่งหลับเผลอไผล ให้เต็มอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ...” ซึ่งนายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) สามารถปั้นพระพุทธรูปปางถวายเนตรองค์นี้ได้ถูกพระทัยแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ 

      ต่อมาในเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดพิธีหล่อพระพุทธรูปปางถวายเนตรองค์ใหญ่ ๑ องค์ และองค์เล็กอีก ๒ องค์* ณ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต (ในพระราชวังดุสิต)  

      หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) กล่าวถึงประวัติพระพุทธรูปต้นแบบองค์นี้ว่า เดิมอยู่ในบริเวณบ้านพระยาบรรหาร ถนนดินสอ พระยาไชยวิชิต อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ขุนอภิบาลไปเชิญมาไว้กองลหุโทษ การย้ายคราวนั้นปรากฏว่าฐานแตกชำรุดเสียหาย พระยานนทิเสนปฏิสังขรณ์ก่อฐานใหม่ด้วยปูนซีเมนต์ ปิดทองที่พระบาทและพระเศียร และทาสีแดงเลือดหมูที่จีวร จากนั้นประดิษฐานไว้ที่อาคารโถงแห่งหนึ่งในกองลหุโทษ สำหรับให้นักโทษได้กราบไหว้สักการะบูชา 

      ภายหลังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระประสงค์ให้ย้ายมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน พระองค์ให้หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) เป็นผู้ดำเนินการติดต่อไปยังกรมกองลหุโทษ กระทั่งเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑ พระยาสุรทัณคณิศร เจ้ากรมกองลหุโทษ ได้ส่งพระพุทธรูปองค์นี้ให้กับพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร 

 

 

อ้างอิง 

กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลปการพิมพ์, ๒๕๕๒.

กรมศิลปากร. ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลปการพิมพ์, ๒๕๖๓.

ชลธีร์ ธรรมวรางกูร บรรณาธิการ. ประมวลเอกสารสำคัญเนื่องในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: สหธรรมิก, ๒๕๕๐. (พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) ป. ๗, พธ. ด. อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐).

เด่นดาว ศิลปานนท์. “พระพุทธรูปต้นแบบฝีมือนายอันฟอนโซ ทอร์นาเรลลี.” ศิลปากร. ๔๙, ๖ (พฤษจิกายน ๒๕๔๙): ๑๑๔-๑๑๗.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๖.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔) ศธ.๒.๑.๑/๔. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เรื่อง พระพุทธรูปปางถวายเนตร กองลหุโทษ (๒ มิ.ย. - ๑๔ ธ.ค. ๒๔๗๑).

ๅ“การหล่อพระพุทธรูปถวายเนตร.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๒๖. ตอน ๐ง. (๒๓ มกราคม ๑๒๘): ๒๓๘๘-๒๓๙๐.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 5942 ครั้ง)


Messenger