...

พระพิมพ์ดินเผา รูปเหวัชระมณฑลและพระพุทธรูปลีลา

       พระพิมพ์ดินเผา รูปเหวัชระมณฑลและพระพุทธรูปลีลา

       สมัยสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ (๖๐๐-๗๐๐ ปีมาแล้ว)

       ได้มาจากวัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

       ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

       พระพิมพ์ดินเผา ทรงกลีบบัว กึ่งกลางเป็นรูปเหวัชระแปดเศียร สิบหกกร ประทับขัดสมาธิ ล้อมรอบด้วยพระโพธิ์สัตว์สี่องค์ (รายละเอียดค่อนข้างเลือน) ด้านบนเป็นพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก ด้านล่างเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ๔ องค์ ประทับในซุ้ม ด้านหลังพระพิมพ์เป็นรูปพระพุทธรูปลีลา พระพักตร์รูปไข่ พระหัตถ์ขวายกขึ้นมาแนบพระอุระแสดงอภัยมุทรา (ปางประทานอภัย) พระหัตถ์ซ้ายแนบพระวรกาย พระบาทซ้ายยกขึ้นแสดงอิริยาบถลีลา 

       ด้านหน้าพระพิมพ์สันนิษฐานว่าหมายถึง “เหวัชระมณฑล” (Mandala of Hevajara) ซึ่งคําว่ามณฑลในภาษาสันสกฤตแปลว่า วงกลม เป็นสัญลักษณ์ของพุทธภาวะ หรือการบรรลุโพธิญาณ ในขณะที่พุทธศาสนามหายานตันตระ มณฑลเป็นจักรวาลที่สถิตของเทพเจ้าและพระโพธิ์สัตว์ บางพิธีกรรมมีการใช้ภาพวาดมณฑลเพื่อให้ผู้ทำพิธีและผู้ร่วมพิธีรู้สึกเชื่อมโยงกับเทพเจ้าได้อย่างลึกซึ้ง

       ส่วนรูปพระลีลาด้านหลังพระพิมพ์นั้นเป็นการพิมพ์รูปอีกชิ้นแล้วนำมาประกบ ซึ่งพระพุทธรูปลีลาเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานศิลปกรรมสุโขทัย และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ 

       พระพิมพ์เหวัชระมณฑลชิ้นนี้ เป็นตัวอย่างงานของการผลิตซ้ำศิลปกรรมเขมร พุทธศตวรรษที่ ๑๘ (๘๐๐ ปีมาแล้ว) เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนามหายานมีความเจริญรุ่งเรือง ในวัฒนธรรมเขมรพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับเหวัชระทั้งงานจำหลักศิลารูปเหวัชระ เช่น ทับหลังรูปเหวัชระปราสาทบันทายฉมาร์ ประติมากรรมนูนต่ำรูปเหวัชระมณฑล บริเวณประตูผี เมืองนครธม เป็นต้น รวมทั้งพบประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปเหวัชระหลายชิ้นและพระพิมพ์เหวัชระมณฑล 

       ในประเทศไทยพบประติมากรรมเหวัชระหลายชิ้นรวมถึง พระพิมพ์รูปเหวัชระ และเหวัชระมณฑลแพร่กระจายหลายพื้นที่ เช่น พระพิมพ์สัมฤทธิ์รูปเหวัชระมณฑลที่จังหวัดสุพรรณบุรี, อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และที่โบราณสถานกู่ช้าง กู่ม้า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นต้น

       นอกจากนี้ยังพบ “แม่พิมพ์พระพิมพ์เหวัชระ” อยู่หลายแห่งด้วยเช่นกัน อาทิ แม่พิมพ์ดินเผารูปเหวัชระ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา แม่พิมพ์ดินเผารูปเหวัชระ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ชิ้นส่วนดินเผาสำหรับหล่อประกบแม่พิมพ์รูปเหวัชระ พบที่บ้านบ่อโตนด ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 

       ดังนั้นการพบพระพิมพ์ดินเผารูปเหวัชระมณฑลชิ้นนี้ จึงสะท้อนว่าสังคมในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ (๖๐๐-๗๐๐ ปีมาแล้ว) ยังคงให้ความสนใจและสืบทอดการสร้างพระพิมพ์รูปเหวัชระมณฑล ซึ่งในบางแหล่งเช่น กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ (สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พ.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๙๑) ได้พบทั้งพระพิมพ์รูปเหวัชระมณฑลและแม่พิมพ์พระพิมพ์รูปเหวัชระมณฑลประดิษฐานภายในกรุ

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.

ชัญธิกา มนาปี. การศึกษาคติความเชื่อและรูปแบบเหวัชระที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 1231 ครั้ง)


Messenger