พระพิมพ์พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มปราสาท (พระสิบสอง)
พระพิมพ์พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มปราสาท (พระสิบสอง)
ศิลปะหริภุญไชย พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ (๗๐๐ – ๙๐๐ ปีมาแล้ว)
พบที่กู่แดง เดิมเป็นวัดร้าง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พระภิกษุบุญทึม พรหมเสโน วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มอบให้เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๖
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพิมพ์กรอบสามเหลี่ยม กึ่งกลางเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอาภรณ์อย่างกษัตริย์ ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานบัว แสดงปางมารวิชัย ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานบัว พระเศียรแสดงประภามณฑล มีรูปบุคคลนั่งอยู่ด้านข้าง ทั้งหมดนี้ประดิษฐานอยู่บนฐานปัทม์ยกเก็จภายใต้ปราสาท ส่วนเรือนชั้นซ้อนแต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชร ด้านบนสุดประดับยอดดอกบัวตูม กรอบซุ้มของพระประธานมีลักษณะหยักโค้งประดับใบระกา ส่วนปลายซุ้มทำเป็นเศียรนาค ด้านข้างปราสาทประดับก้านดอกบัวทั้งสองข้างรองรับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร
จากรูปแบบดังกล่าวที่ปรากฏพระพุทธรูปและรูปบุคคลรวมจำนวน ๑๒ คน จึงมีคำเรียกพระพิมพ์รูปแบบนี้ว่า “พระสิบสอง” และพบแพร่หลายทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ส่วนมากจะเป็นพระพิมพ์ดินเผา บางแห่งเช่นที่ทุ่งกู่ล้าน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พบแม่พิมพ์พระพิมพ์พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มปราสาท (พระสิบสอง) อีกด้วย นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มปราสาท (พระสิบสอง) แบบเนื้อชินที่วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นตัวอย่างพระพิมพ์เนื้อชินที่พบเป็นจำนวนน้อย
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 1974 ครั้ง)