พระพุทธรูปยืนปางประทานพร
พระพุทธรูปยืนปางประทานพร
ศิลปะคุปตะ สกุลช่างสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย (พุทธศตวรรษที่ ๑๐)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มาจากมฤคทายวัน ทางตอนเหนือของเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปยืน สลักจากศิลาสีเหลือง แสดงปางประทานพร (วรทมุทรา) พระอุษณีณะนูน ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย พระพักตร์แสดงอาการสงบ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระวรกายครองจีวรแบบห่มคลุม ลักษณะจีวรบางอันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างสารนาถ (ต่างจากประติมากรรมพระพุทธรูปสกุลช่างมถุราที่แสดงถึงผ้าจีวรที่หนาและเป็นริ้ว) พระกรขวาแนบพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ออกด้านหน้า พระหัตถ์ซ้ายชำรุดหักหาย ทรงยืนตริภังค์*
สำหรับพระพุทธรูปศิลปะอินเดีย สมัยคุปตะ สกุลช่างสารนาถ เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปแสดงปางประทานพรกับตอนพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กระทั่งศิลปะอินเดียแบบวกาฎกะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓) ปางประทานพรจึงใช้เป็นอิริยาบถที่เจาะจงถึงเหตุการณ์พุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีตัวอย่างคือ จิตรกรรมในถ้ำอชันตาที่ ๑๗ เป็นต้น
พระพุทธรูปองค์นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” ตอนนิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย กล่าวว่าพระองค์ทรงได้พระพุทธรูปองค์นี้จากประเทศอินเดีย และน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน
“...ฉันได้พระพุทธรูปปางลีลาแบบสมัยคุปตะ ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ มาจากมฤคทายวันองค์หนึ่ง และมาได้รอยพระพุทธบาทที่กล่าวมาแล้ว กับทั้งพระพุทธรูปและพระสถูปขนาดน้อยที่พุทธคยาอีกหลายสิ่ง ของเหล่านั้นฉันเอามาถวายพระเจ้าอยู่หัว เดิมโปรดให้ไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังย้ายเอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ยังอยู่ที่นั่นทั้งนั้น…”
กระทั่งเมื่อครั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เปิดนิทรรศการ ณ อาคารมหาสุรสิงหนาท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยมีศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ถวายการบรรยาย
*การยืนตริภังค์หมายถึงการยืนด้วยการหัก ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนลำตัวคือพระโสณี (สะโพก) พระเพลา (ขาท่อนบน) และพระชงฆ์(ขาท่องล่าง) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศิลปะคันธาระ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖-๙) เพียงแต่ยังไม่แสดงการเอียงพระโสณี
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระมหากษัตริย์ไทย กับการพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: กราฟิคฟอร์แมท, (จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี), ๒๕๓๙.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบ พัฒนาการ ความหมาย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของ รูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๕.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร,๒๕๔๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 8173 ครั้ง)