ผอบพร้อมฝารูปกวาง
ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑
ได้มาจากวัดดอกคำ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ผอบทำจากหินสีเทา มีลักษณะเป็นกวางหมอบ ส่วนเขารวมถึงใบหน้าและขากวางหุ้มด้วยแผ่นทองคำ บริเวณหลังกวางปิดด้วยฝาทรงกรวยจำหลักลวดลาย ฝาสามารถเปิดออกได้
ผอบรูปกวางเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุประเภทผอบบรรจุพระธาตุที่จำหลักเป็นรูปสัตว์ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ พบทั้งผอบรูปกวาง รูปช้างหมอบ รูปกบ รูปนก รูปแพะ ฯลฯ วัสดุที่ใช้ในการทำผอบบรรจุพระธาตุนั้นนิยมใช้วัสดุที่หายากและมีมูลค่าสูง เช่น หินผลึกใส หรือหินสีต่าง ๆ รวมทั้งการประดับผอบนั้นก็ใช้วัสดุที่มีค่า เช่น ทองคำ หรือพลอย เป็นต้น
ผอบบรรจุพระธาตุนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่อพระพุทธศาสนา โดยผอบบรรจุพระธาตุนั้นจัดเป็นธาตุเจดีย์ คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงหรือเคารพบูชาองค์พระพุทธเจ้าที่ได้ปรินิพพานไปแล้ว ความเชื่อดังกล่าวนี้ยังเป็นคติเดียวกันกับสังคมที่นับถือพุทธศาสนาแห่งอื่น ๆ เช่น ล้านช้าง อยุธยา เป็นต้น และในพื้นที่ล้านนายังมีความเชื่อเกี่ยวกับตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จไปยังบ้านเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่ของกลุ่มคนในวัฒนธรรมไท-ลาว และได้ทรงมีพุทธทำนายเกี่ยวกับการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้หลายแห่ง คติการสร้างพระธาตุเจดีย์จึงเป็นที่ปรากฏแพร่หลายในพื้นที่ล้านนามาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
กรมศิลปากร. สมบัติศิลปจากบริเวณเขื่อนภูมิพล. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แพร่การช่าง. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายนกยูง พงษ์สามารถ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘).
(จำนวนผู้เข้าชม 692 ครั้ง)