หลักศิลารูปใบเสมาสลักภาพพระรัตนตรัยแบบมหายาน
หลักศิลาสลักรูปพระรัตนตรัยแบบมหายาน
วัสดุหินทราย
อายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ (๘๐๐ - ๙๐๐ ปีมาแล้ว)
ประวัติ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทาน เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๕
หลักศิลารูปทรงคล้ายใบกลีบบัว สลักภาพบุคคลทั้งสี่ด้าน โดยด้านหน้าสลักรูปพระพุทธรูปสมาธินาคปรก เบื้องล่างบริเวณขนดนาคมีเทพี ๒ กรทรงยืนอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านหลังหลักศิลาสลักรูปพระโพธิสัตว์ ๘ กร ตอนล่างสลักรูปพระนางปรัชญาปารมิตาภาค ๕ เศียร ๑๐ กร ด้านข้างหลักศิลาทางขวาของพระพุทธรูปสลักรูปพระโพธิ์สัตว์วัชรปาณี ตอนล่างสลักรูปเทพี ๔ กร (สันนิษฐานว่าเป็นพระนางสุชาดา) ด้านข้างหลักศิลาทางซ้ายของพระพุทธรูปสลักรูปพระอวโลกิเตศวร ๔ กร ตอนล่างเป็นรูปเทพี ๒ กร สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระนางตารา
โบราณวัตถุชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งจัดแสดงจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔
โดยภาพสลักรูปบุคคลที่ปรากฏบนหลักศิลาแต่ละด้านนั้น เป็นการสื่อถึงรูปเคารพในศาสนาพุทธนิกายมหายานที่มีความหมายต่างกันออกไป รูปเคารพที่สำคัญ ได้แก่
*พระศากยมุนี ตามความเชื่อในพุทธศาสนามหายานนั้นเป็นพระพุทธเจ้าในร่างมนุษย์ (ภาคนิรมาณกาย) ที่ลงมาจุติบนโลกมนุษย์ในห้วงเวลาปัจจุบันและดับขันธ์ไปแล้ว
*พระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวร หรือพระโพธิสัตว์ปัทมปาณี เป็นโพธิสัตว์ที่ดูแลโลกมนุษย์ในห้วงเวลาปัจจุบัน (ยุคของพระพุทธเจ้าศากยมุนี) ถือกำเนิดจากพระอมิตาภะ ดังนั้นจึงพบรูปพระอมิตาภะประทับนั่งสมาธิอยู่บนมวยผมของพระอวโลกิเตศวรเสมอ ลักษณะสำคัญของพระองค์คือ การแสดงออกถึงการเป็นนักบวชด้วยการเกล้าพระเกศาขึ้นเป็นมวย พระกรถือดอกบัว ลูกประคำหรือหม้อน้ำ เป็นต้น
*พระนางปรัชญาปารมิตา เป็นเทพีแห่งความรู้และความเฉลียวฉลาด วัตถุสำคัญที่มักปรากฏในพระกรของนางปรัชญาปารมิตาคือดอกบัวและคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร
*พระโพธิสัตว์วัชรปาณี เป็นโพธิสัตว์ที่มีบทบาทถึงการรบกับอสูร และเป็นเทพที่ควบคุมฝน เนื่องจากเครื่องหมายของพระองค์คือ วัชระ หรือ สายฟ้า ในงานประติมากรรมมักสร้างพระโพธิสัตว์วัชรปาณีที่แสดงอาการดุร้าย พระกรถืออาวุธต่าง ๆ โดยมีอาวุธสำคัญคือ วัชระและกระดิ่ง
-ด้านหน้าของหลักศิลาสลักรูปพระพุทธรูปสมาธินาคปรก ซึ่งเป็นรูปแทนของ “พระศากยมุนี” มีพุทธลักษณะคือ พระรัศมีทรงดอกบัวตูม อุษณีษะนูน เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์สี่เหลี่ยม บริเวณพระนลาฎปรากฏเส้นขอบไรพระศก พระเนตรมองตรง พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แย้มพระสรวลเล็กน้อย ส่วนพระวรกายไม่ปรากฏการครองจีวร ประทับขัดสมาธิราบบนขนดนาคซ้อนกันสามชั้น เหนือพระเศียรพระพุทธรูปเป็นพังพานนาคเจ็ดเศียร และเศียรนาคประดับลายกนก พระนาคปรกองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนเบื้องล่างบริเวณกึ่งกลางขนดนาคสลักรูปเทพี ๒ กรประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย แต่รายละเอียดของส่วนพระพักตร์และวัตถุในพระกรนั้นลบเลือนไปมาก
-ด้านหลังของหลักศิลาสลักรูปพระโพธิสัตว์ ๘ กร ทรงยืนอยู่บนฐานบัวหงาย มีลักษณะสำคัญคือส่วนพระเศียรเกล้าพระเกศาขึ้นเป็นมวย แต่เดิมบริเวณด้านหน้ามวยผมคงจะสลักรูปพระอมิตาภะไว้แต่สภาพปัจจุบันชำรุดสึกกร่อน ส่วนพระกรสองข้างด้านหน้าหันฝ่าพระหัตถ์ออกนอกพระวรกาย อีกหกพระกรทรงถือวัตถุต่าง ๆ แม้สภาพปัจจุบันจะเลือนลางไปค่อนข้างมากแต่ยังพอสังเกตได้ เช่น หม้อน้ำ คัมภีร์ และดอกบัว เป็นต้น ถัดขึ้นไปด้านบนทั้งสองข้างเป็นรูปพระพุทธรูปแสดงอิริยาบถสมาธิอยู่ภายในซุ้ม สันนิษฐานว่าน่าจะสื่อถึงพระอมิตาภะที่แสดงธยานมุทรา (ปางสมาธิ) ส่วนด้านล่างเป็นรูปพระนางปรัชญาปารมิตาภาค ๕ เศียร ๑๐ กร ซึ่งคล้ายกับรูปพระนางปรัชญาปารมิตาบนหลักสถูปศิลาจาก กบาลสเร ยายยิน (Kbal Sre Yeay Yin) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานกีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แม้ว่ารูปพระนางปรัชญาปารมิตาที่ปรากฏส่วนของวัตถุในพระกรจะลบเลือนไปมากแล้ว แต่ยังคงเห็นวัตถุสำคัญในพระกร เช่น ดอกบัว เป็นต้น
-ด้านข้างหลักศิลาทางซ้ายของพระพุทธรูปสลักรูปพระอวโลกิเตศวร ๔ กร มีลักษณะสำคัญคือวัตถุในพระกรทั้งสี่ ได้แก่ พระกรขวาบนถือลูกประคำ พระกรขวาล่างรายละเอียดค่อนข้างเลือนแต่สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะถือดอกบัว พระกรซ้ายบนถือคัมภีร์และพระกรซ้ายล่างถือหม้อน้ำ ส่วนตอนล่างเป็นรูปเทพี ๒ กร ทรงยืน พระกรขวายกขึ้นมาแสดงอภัยมุทรา (ปางประทานอภัย) พระกรซ้ายถือดอกบัว สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระนางตาราซึ่งเป็นชายาของพระอวโลกิเตศวร
-ด้านข้างหลักศิลาทางขวาของพระพุทธรูปสลักรูปพระโพธิสัตว์วัชรปาณี มีลักษณะสำคัญคือสีพระพักตร์ดุร้าย ดวงตามองตรงเบิกโพลง ถือวัชระและกระดิ่ง นุ่งผ้าสั้นมีชายผ้าหน้านางซ้อนกันสองชั้น ตอนล่างสลักรูปสตรี ๔ กร สันนิษฐานว่าเป็นพระนางสุชาดา ชายาของพระโพธิ์สัตว์วัชรปาณี มีลักษณะสำคัญคือ พระกรขวาบนถือดอกบัว พระกรซ้ายบนถือคัมภีร์ ส่วนพระกรทั้งสองข้างด้านหน้าแสดงอภัยมุทรา (ปางประทานอภัย) สองพระหัตถ์
ค้นคว้าและเรียบเรียง : นายพนมกร นวเสลา
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. เทวสตรี คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๘.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 3291 ครั้ง)