...

ตู้พระธรรมลายรดน้ำปิดทองเขียนลายกนกเปลวและเรื่องท้าวอุเทน

         ตู้พระธรรมขาหมู ลายรดน้ำปิดทอง ศิลปะธนบุรี มีจารึกด้านหลังตู้ปรากฏ พ.ศ. ๒๓๒๓ เดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ หอพระสมุดวชิรญาณได้มา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ด้านหน้าและด้านข้างตู้พระธรรมเขียนลายกนกเปลว ด้านล่างเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ ด้านหลังตู้เขียนเรื่องพระนางสามาวดี (ตอน กำเนิดท้าวอุเทน) ด้านล่างมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ๔ บรรทัด มีใจความว่า พุทธศักราช ๒๓๒๓ อุบาสกช่วย สามี และอุบาสีกา อู ภรรยา มีศรัทธาสร้างตู้พระธรรมลายรดน้ำไว้ในพุทธศาสนาปัจจุบันตู้พระธรรมใบนี้จัดแสดงอยู่ที่ห้อง ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          ภาพที่ปรากฏด้านหลังตู้พระธรรม มีฉากสำคัญ ๒ ฉาก กล่าวคือด้านบนเป็นฉากตอนอัลลกัปปดาบสปีนพะองขึ้นไปช่วยพระเทวีและอุเทนกุมารที่ติดอยู่บนต้นไทร ส่วนด้านล่างเป็นฉากอัลลกัปปดาบสอุ้มอุเทนกุมาร และพระเทวีประทับอยู่หน้าอาศรม 

          ฉากทั้งสองดังกล่าวมีที่มาจากเรื่องพระนางสามาวดี ตอนกำเนิดท้าวอุเทน เนื้อเรื่องมีว่า พระเจ้าปรันตปะกษัตริย์เมืองโกสัมพี และพระเทวีผู้เป็นพระมเหสีขณะนั้นกำลังทรงครรภ์ วันหนึ่งทั้งสองพระองค์ทรงออกมาประทับผิงแดดอ่อนอยู่กลางแจ้ง โดยที่พระเทวีทรงห่มผ้ากัมพลแดง และทรงธำมรงค์ของกษัตริย์ ขณะนั้นนกหัสดีลิงค์บินผ่านมาเห็นพระเทวี เข้าใจว่าเป็นชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ จึงบินโฉบลงมาตะครุบร่างพระเทวีไว้ในกรงเล็บและบินไปยังต้นไทรแห่งหนึ่ง พระนางเทวียอมให้นกหัสดีลิงค์พาตนไปยังที่รังต้นไทร เพราะหากทรงขัดขืนนกหัสดีลิงค์จะปล่อยพระองค์ร่วงลงสู่พื้นดินเป็นอันตรายต่อพระนางเทวีและพระราชบุตร เมื่อถึงต้นไทรนกหัสดีลิงค์ได้วางพระเทวีลง พระองค์ได้ส่งเสียงดังและปรบมือไล่จนนกหัสดีลิงค์บินหนีไป แต่ในคืนนั้นระหว่างที่พระเทวีติดอยู่บนต้นไทร พระนางประชวรพระครรภ์ตลอดทั้งคืนกระทั่งรุ่งสางจึงประสูติกุมารองค์หนึ่ง ทรงให้พระนามว่า “พระอุเทน”

ไม่ไกลจากต้นไทรมีดาบสตนหนึ่งนาม “อัลลกัปป” ได้ตั้งอาศรมอาศัยอยู่ ดาบสผู้นี้มีมนต์วิเศษสามารถควบคุมช้างป่าได้ ขณะดาบสออกเดินหาอาหารได้ยินเสียงพระอุเทนกุมารบนต้นไทร เมื่อมองขึ้นไปพบกับพระเทวี จึงไต่ถามจนทราบความว่าพระนางถูกนกหัสดีลิงค์ลักพามาติดอยู่บนต้นไทร อัลลกัปปดาบสจึงปีนขึ้นไปช่วยพระเทวีและพระอุเทนกุมารลงมา และพาไปพักอาศัยที่อาศรม ให้การดูแลพระเทวีกับพระอุเทนกุมารเป็นอย่างดี ซึ่งต่อมาอุเทนกุมารได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์และมีอัครมเหสีคนสำคัญคือ พระนางสามาวดี เรื่องนางสามาวดีนี้ เป็นนิทาน ๑ ใน ๙ เรื่อง ของอัปปมาทวรรค (หมวดว่าด้วยความไม่ประมาท) ที่ปรากฏในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท

          ฉากกำเนิดอุเทนกุมารที่ปรากฏบนตู้พระธรรม ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญ เกี่ยวกับการมีไหวพริบและความรอบคอบของพระนางเทวี ในการแก้ไขปัญหาที่ถูกนกหัสดีลิงค์ลักพามาที่รังต้นไทร อีกประการหนึ่งคือภาพสะท้อน ความรักของแม่ที่มีต่อลูกในครรภ์ ซึ่งหากพระนางเทวีตัดสินพระทัยผิดพลาดย่อมเป็นอันตรายต่อพระโอรสของพระองค์เช่นกัน ดังข้อความในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“...แม้พระนางนั้น อันนกนั้นนำไปอยู่ ทรงหวาดต่อมรณภัย จึงทรงดำริว่า “ถ้าว่าเราจักร้อง ธรรมดาเสียงคน เป็นที่หวาดเสียวของสัตว์จำพวกดิรัจฉาน มันฟังเสียงนั้นแล้ว ก็จักทิ้งเราเสีย    เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักถึงความสิ้นชีพ พร้อมกับเด็กในครรภ์ แต่มันจับในที่ใดแล้วเริ่มจะกินเรา ในที่นั้น เราจักร้องขึ้นแล้วไล่ให้มันหนีไป” พระนางยับยั้งไว้ได้ ก็เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต...”

         ค้นคว้าและเรียบเรียง : นายพนมกร นวเสลา
         บรรณานุกรม

สำเนียง เลื่อมใส. “ไขความอรรถกถาธรรมบท” ดำรงวิชาการ ๑, ๑ (มกราคา – กรกฎาคม ๒๕๔๕), ๓๓๑ - ๓๔๙.

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒ เรื่องพระนางสามาวดี. เข้าถึงเมื่อ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔. เข้าถึงได้จาก https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=12&p=1

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1587 ครั้ง)