พระสทาศิวะ
พระสทาศิวะ
ศิลปะอยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ หรือประมาณ ๔๐๐ – ๕๐๐ ปีมาแล้ว
หินทราย
สูง ๑๑๓ เซนติเมตร
พบที่วัดหน้าพระเมรุ ย้ายมาจากอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
แผ่นหินสลักภาพเทวรูป ๕ เศียร ประกอบด้วยเศียรล่าง ๔ เศียร เศียรบน ๑ เศียร มี ๑๐ กร ปรากฏพระเนตรที่ ๓ กลางพระนลาฏ พระหัตถ์ถืออาวุธต่างๆ กัน ได้แก่ บาศ (เชือกบ่วง) ตรีศูล วัชระ อัคนิ (เปลวไฟ) ด้านหลังของแผ่นหินสลักลายเส้นเป็นเทวรูปแบบเดียวกับประติมากรรมด้านหน้า เป็นรูปพระสทาศิวะ ซึ่งหมายถึงพระศิวะซึ่งปรากฏอยู่ตลอดกาล เทวรูปนี้เป็นศิลปกรรมอยุธยาที่ยังคงอิทธิพลของศิลปะลพบุรีหรือศิลปะเขมรโบราณในประเทศไทย อาทิ ผ้านุ่งที่ทิ้งชายผ้าด้านหน้าเป็นรูปสามเหลี่ยม
ปัจจุบันรูปพระสทาศิวะ จัดแสดงในห้องประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(จำนวนผู้เข้าชม 2416 ครั้ง)