พระที่นั่งคชกรรมประเวศ กับ พระราชพิธีพืชมงคล
พระที่นั่งคชกรรมประเวศ ถ่ายเมื่อเป็นพิพิธภัณฑสถานในราวทศวรรษที่ ๒๔๓๐
ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระบาทมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มีพระราชอิสริยยศเทียบเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน จึงทรงดำริให้สร้างพระที่นั่งคชกรรมประเวศ บริเวณชาลาหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระบวรราชวัง เพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศ โดยพระที่นั่งโถงองค์นี้เป็นพระที่นั่งทรงปราสาทเพียงองค์เดียวที่เคยสร้างในวังหน้า
จาก “สาส์นสมเด็จ” ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๗๔ ความตอนหนึ่งว่า “...สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) โปรดปราสาทองค์นั้น (พระที่นั่งคชกรรมประเวศ) มาก ได้เคยทำพิธีพืชน์มงคลที่นั้นครั้งหนึ่ง....”
ตามหลักฐานที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาพบว่า ในพุทธศักราช ๒๔๔๒ (รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีพืชมงคลที่พระที่นั่งคชกรรมประเวศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
“วันที่ ๒๐ เมษายน เวลาเย็นได้ตั้งกระบวนแห่ พระพุทธรูปแลเทวรูปต่างๆ แลพระไชยวัฒน แต่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปประดิษฐานที่มณฑลพระราชพิธี ณ พระที่นั่งคชกรรมประเวศ พระพุทธรูปตั้งที่เตียงมณฑลบนพระที่นั่งนั้น เทวรูปตั้งบนโต๊ะที่ปรำด้านเหนือแห่งพระที่นั่ง...”
อย่างไรก็ดีพระที่นั่งโถงทรงปราสาทองค์นี้เป็นพระที่นั่งเครื่องไม้ ในปลายรัชกาลที่ ๕ ทรุดโทรมเสาผุจนไม่สามารถปฏิสังขรณ์ได้ จึงโปรดให้รื้อยังคงแต่ฐานปราสาทกับเกยช้างอยู่ข้างน่าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์จนทุกวันนี้
พระที่นั่งคชกรรมประเวศ ถ่ายในปลายรัชกาลที่ ๕
(จำนวนผู้เข้าชม 952 ครั้ง)