...

ตราพระไพสพราช (โคอุศุภราช)

     ตราพระไพสพราช (โคอุศุภราช) 

     รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ หรือประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว

     งาช้าง

     ขนาด สูง ๑๐ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕.๘ เซนติเมตร

     ตราเก่าที่เลิกใช้แล้วของกระทรวงเกษตราธิการ ส่งมาเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๙๐

     เจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกรมนา มีตราประจำตำแหน่ง ๙ ดวง สำหรับใช้ในภารกิจแตกต่างกัน หนี่งในนั้น คือ ตราพระไพสพราช การใช้งานของตรานั้นตามพระธรรมนูญ ในพระราชกฤษฎีกาเดิม ระบุว่า “...ตราพระไพสพราช ทรงเครื่องยืนบลแท่น ดวง ๑ สำหรับใช้ไปด้วยพระราชทานที่กัลปนา...” เป็นตราใช้สำหรับการพระราชทานที่ดินหรือสิ่งก่อสร้างที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอุทิศผลประโยชน์แก่วัดหรือศาสนา (สำหรับกัลปนา) 

     ตราประทับแกะสลักจากงาช้างเป็นรูปโคมีเครื่องประดับยืนบนแท่น  โดยคำว่า “อุศุภ” แปลว่า โค ส่วน คำว่า “ราช” แปลว่าราชา รวมกันคือ ราชาแห่งโคทั้งปวง ในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ คือ โคนนทิ พาหนะของพระศิวะนอกจากนี้ยังพบการใช้คำว่า โคอุศุภราช ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลของกัมพูชา โดยออกนามเรียกพระโคในพระราชพิธีนี้ว่าพระโค หรือ โคอุศุภราช ก็ได้เช่นกัน

     ปัจจุบันตราพระไพสพราช (โคอุศุภราช) จัดแสดงในห้องประวัติศาสตร์ธนบุรี – รัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

 

ค้นคว้าโดย นายกฤตเมธ เอื้อจารุพร 

นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร

(จำนวนผู้เข้าชม 950 ครั้ง)


Messenger