เซี่ยวกาง
บานประตูไม้จำหลักรูปเซี่ยวกาง ซึ่งจัดแสดงในห้องเครื่องไม้จำหลัก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เซี่ยวกาง หรือรูปอารักษ์แบบจีน
มักเป็นทวารบาลรักษาประตู มีหนวดเครายาว แต่งกายท่อนบนคล้ายกับยักษ์คือสวมมงกุฎยอดน้ำเต้าหรือมงกุฎยอดหางไก่ สวมเสื้อเกราะ แต่นุ่งผ้าทิ้งชายสามเหลี่ยมระหว่างขา ยืนบนสิงห์โตแบบจีน
ในห้องเครื่องไม้จำหลัก มุขเด็จด้านตะวันตก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดแสดงบานประตูไม้จำหลักรูปเซี่ยวกางคู่หนึ่ง ตามประวัติระบุว่าเดิมเป็นบานประตูซุ้มทางขึ้นฐานไพทีปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงปรับปรุงอัฒจันทร์ทางขึ้นปราสาทพระเทพบิดรจึงรื้อซุ้มประตูทิศตะวันออก ทิศใต้ฟากตะวันออก และทิศเหนือลง และในภายหลังจึงนำบานประตูไม้จำหลักรูปเซี่ยวกางมาจัดแสดงในห้องโถงทางขึ้นพระที่นั่งพรหมเมศธาดาด้านตะวันออกเมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมู่พระวิมานพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครในรัชกาลที่ ๗ แล้วจึงได้ย้ายมาจัดในแสดงในมุขเด็จด้านตะวันตกจนถึงปัจจุบัน
ท่านที่สนใจยังสามารถไปชมบานประตูไม้จำหลักรูปเซี่ยวกาง อีก ๒ คู่ ซึ่งคงอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ ซุ้มประตูทางขึ้นฐานไพทีปราสาทพระเทพบิดร ทิศตะวันตก และทิศใต้ฟากตะวันตก สำหรับอีกคู่หนึ่งนั้นปัจจุบันเก็บรักษาที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี
บานประตูไม้จำหลักรูปเซี่ยวกาง ซึ่งเก็บรักษาที่คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี
รายละเอียดภาพจำหลักรูปวิถีชีวิตที่เชิงบานประตูไม้จำหลักทั้ง ๔ บาน
ภาพถ่ายเก่าราวต้นรัชกาลที่ ๖ ปรากฏซุ้มทางขึ้นฐานไพทีปราสาทพระเทพบิดร ด้านทิศตะวันออก
ภาพถ่ายในรัชกาลที่ ๕ ยังคงเห็นซุ้มทางขึ้นฐานไพทีปราสาทพระเทพบิดร ด้านทิศเหนือฟากตะวันออก
ซุ้มทางขึ้นฐานไพทีปราสาทพระเทพบิดร ด้านทิศตะวันตกในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๖๔)
(จำนวนผู้เข้าชม 2517 ครั้ง)