พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข : เครื่องโลหศิลป์
พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข พระที่นั่งองค์หนึ่งในหมู่พระวิมาน ๑๑ องค์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นมุขขวางด้านหลังพระที่นั่งวสันตพิมาน ในรัชกาลที่ ๓ เป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าดาราวดี พระอรรคชายาของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ใช้เป็นที่พักของเจ้าคุณจอมมารดาเอม พระสนมเอก
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดพระราชทาน พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมด จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ในระหว่างพ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๕๐๙ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุขใช้เป็นห้องจัดแสดงงาช้าง ของที่ระลึกพระราชพิธีในต่างๆ เครื่องชั่งตวงวัดของหลวง เหรียญกษาปณ์ และพ.ศ. ๒๕๑๐ จึงย้ายเรือลอยพระประทีปมาจัดแสดงร่วมด้วย จากนั้นพ.ศ. ๒๕๓๗ จึงปรับเป็นห้องจัดแสดงเครื่องมุก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องมุกที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)ดำเนินการบูรณะพระที่นั่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรในหัวข้อ “เครื่องโลหศิลป์”
เครื่องโลหะ ทั้งที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องประดับ และศาสนวัตถุ มักสร้างจากโลหะที่มีมูลค่าสูงด้วยฝีมือเชิงช่างอันประณีต เครื่องโลหศิลป์ของไทย นอกจากจะสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละยุค ผ่านรูปลักษณ์และประโยชน์ใช้สอย ยังสื่อถึงค่านิยม คติความเชื่อ และธรรมเนียมประเพณีของแต่ละกาลสมัย อีกทั้งเป็นเครื่องแสดงอำนาจ และสถานะทางสังคมของผู้ครอบครอง ผ่านการพระราชทาน “เครื่องยศ” หรือ “เครื่องราชอิสริยยศ” แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการ ผู้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามฐานันดรศักดิ์ที่ได้รับ การสร้างสรรค์เครื่องโลหะไทยได้ผสานแรงบันดาลใจและเทคนิคงานช่างจากนานาชาติเข้ามาผสมผสานภายใต้รูปแบบศิลปะช่างไทย ได้แก่ งานลงหิน งานบุดุน งานบังกะรี งานถม งานถมปัด งานกะไหล่ งานคร่ำ และลงยาราชาวดี เป็นต้น
ห้องโลหศิลป์ ปรับปรุงการจัดแสดงตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ใน ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙
(จำนวนผู้เข้าชม 2400 ครั้ง)