ใบมีดสัมฤทธิ์ (เกอ)

     ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว

     ประวัติ [ชิ้นที่ ๑] พระยาอรรคฮาดได้มาจากเมืองเชียงคาน มณฑลอุดร (อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย) ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย

               [ชิ้นที่ ๒] พระพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองเมืองน่านถวาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานแก่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ 

              [ชิ้นที่ ๓] พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

     ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ห้องก่อนประวัติศาสตร์ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

     ใบมีดยาว ปลายโค้งลงเล็กน้อย มีส่วนเดือยสำหรับเสียบเข้ากับด้ามไม้ ในวัฒนธรรมจีนเรียกอาวุธลักษณะนี้ว่า “เกอ” จัดเป็นอาวุธประเภท หอกหรือง้าว (Dagger-Axe) ในประเทศไทยพบอาวุธลักษณะดังกล่าวกระจายอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน (จังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์) และในพื้นที่ลุ่มน้ำเลย (จังหวัดเลย) ซึ่งน่าจะแพร่เข้ามาผ่านเส้นทางลำน้ำโขง หรือเส้นทางคมนาคมระหว่างบ้านเมืองในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยกับบ้านเมืองทางจีนตอนใต้ 

     เกอ เป็นอาวุธสัมฤทธิ์ ที่ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของจีน ในวัฒนธรรม “เอ้อหลี่โถว” (อายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว) บริเวณทางตะวันตกมณฑลเหอหนานและทางตอนใต้ของมณฑลส่านซี พบโบราณวัตถุเครื่องสัมฤทธิ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งอาวุธ ภาชนะ และเครื่องดนตรี อย่างไรก็ตามอาวุธสัมฤทธิ์ที่พบยังมีจำนวนไม่มากนัก กระทั่งเข้าสู่สมัยราชวงศ์ซัง (๑,๗๐๐–๑,๐๒๗ ปีก่อนคริสตกาล) และราชวงศ์โจว (๑,๐๒๗–๒๕๖ ปีก่อนคริสตกาล) พบว่าเป็นช่วงที่มีการทำอาวุธสัมฤทธิ์เป็นจำนวนมากรวมถึงเกอด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการทำสงครามกันระหว่างรัฐ

     ในช่วงเวลาดังกล่าว (ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว) พัฒนาการชุมชนในประเทศไทยอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ช่วงยุคเหล็ก (Iron Age) กล่าวคือ เป็นสังคมที่ดำรงชีพโดยการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ที่สืบเนื่องมาจากช่วงยุคสัมฤทธิ์ แต่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับการทำโลหะ เครื่องมือและอาวุธ เช่น หัวขวาน ใบหอก หัวลูกศร ฯลฯ (ส่วนวัตถุประเภทสัมฤทธิ์นั้น ส่วนมากปรากฏเป็นเครื่องประดับ) นอกจากนี้ในช่วงเวลานี้แหล่งโบราณคดีหลายแห่ง ปรากฏโบราณวัตถุที่มาจากท้องถิ่นอื่นหรือต่างวัฒนธรรม แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ทางไกลกับชุมชนต่างภูมิภาค เช่น ลูกปัดแก้ว หินคาร์เนเลียน หินอาเกต กลองมโหระทึก เป็นต้น รวมถึง “เกอ” ซึ่งเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงการติดต่อระหว่างบ้านเมืองในพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบันกับบ้านเมืองในวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. จากบ้านสู่เมือง : รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย From Village to Early State : The Transformation of Culture in Our Land. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๖๑.

สุรพล นาถะพินธุ. รากเหง้า บรรพชนคนไทย : พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๐.

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. ประวัติศาสตร์ศิลปะจีนโดยสังเขป. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๒.