“การไหว้ครู” หมายถึง การทำพิธีแสดงความเคารพสักการบูชาครูบาอาจารย์ด้วยความสำนึกในพระคุณของท่าน เป็นจารีตประเพณีไทยมาช้านาน เป็นพิธีกรรมที่ปรากฏอยู่ในศาสตร์หลายแขนง เช่น ศาสตร์ด้านการแพทย์ การช่าง เป็นต้น
         โดยเฉพาะศาสตร์ที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ ซึ่งให้ความสำคัญกับบุคคลที่เป็นครูบาอาจารย์อย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่เพลงดนตรีบางเพลง หรือท่ารำบางท่าเป็นเพลงและท่ารำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ หากไม่ได้ทำการไหว้ครูและครอบครู* เสียก่อนก็มิอาจสอนลูกศิษย์ได้ หรือหากสอนลูกศิษย์ไปแล้วเกิดผลร้ายแก่ผู้สอนหรือลูกศิษย์ในภายหลัง ถือกันว่าเป็นการผิดครู ดังนั้นจึงต้องมีพิธีการ “ไหว้ครู” และ “ครอบครู”
         หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพิธีการไหว้ครูและครอบครูมีตัวอย่าง ตามหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๔ เรื่อง ไหว้ครูละครหลวง ปีขาล ฉศก พ.ศ. ๒๓๙๗ โปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีไหว้ครูและครอบครู ณ ชาลา พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กระทำพิธีในวันพฤหัสบดี** ในหมายรับสั่งนี้ ระบุการมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดเตรียมสิ่งของที่ใช้ในงานพิธีไหว้ครูครอบครูเท่านั้น อย่างไรก็ตามใน “พระตำราครอบโขนละคร เล่ม ๒ ฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๔” กล่าวถึงขั้นตอนในพิธีการไหว้ครูและครอบครูไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่การตั้งเครื่องพิธีสงฆ์ ตั้งเครื่องละคร การจุดเทียนบูชาพระ การทำน้ำพระพุทธมนต์ บูชาเทวรูป-กล่าวคำเชิญเทพเทวดา ถวายเครื่องเซ่นไหว้ สักการะ การนำหัวโขนมาครอบแก่ลูกศิษย์ ฯลฯ ลำดับพิธีการดำเนินกระทั่งจบพิธีการเจิมหน้าโขนและเจิมหน้าลูกศิษย์ ลูกศิษย์เอาของมาบูชาครูและรำถวายครู ดังความตอนท้ายของเอกสารกล่าวว่า    “...แล้วครูก็ดับควันเทียน เอาแป้งหอมน้ำมันหอมเจิมหน้าโขน แล้วเจิมหน้าลูกศิษย์ทุก ๆ คน แล้วลูกศิษย์เอาของมาคำนับครู แล้วก็รำถวายมือ...”
         การประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูนั้น ผู้ประกอบพิธีจะสมมติตนเป็นพระภรตฤษี ซึ่งเป็นผู้รับเทวโองการจากพระพรหมให้มาถ่ายทอดแก่มนุษย์โลก (นาฏศาสตร์ การฟ้อนรำ มีกำเนิดจากพระอิศวรเป็นปฐม แล้วมอบให้พระพรหมแต่งเป็นตำรา ผ่านมาถึงพระภรตฤษี)
         ราชสำนักในสมัยรัตนโกสินทร์ มีบุคคลที่เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูหลายท่านด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เจ้ากรมโขนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูมาแต่ครั้งนั้น และเคยเป็นผู้ประกอบพิธีในพระราชพิธีครอบโขนละครและมีปี่พาทย์ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ต่อเบื้องพระพักตร์
         ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) ได้รักษาไว้ จวบจนศิษย์ของท่าน คือ นายอาคม สายาคม ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประกอบพิธีฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ คุณหญิงฯ จึงได้มอบ “สัตตมงคล” ที่พระยานัฏกานุรักษ์เคยใช้ประกอบพิธีและครอบครูให้เป็นสิริมงคลและเกียรติประวัติ
        กระทั่งนายอาคม สายาคม ถึงแก่มรณกรรม เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ทายาทได้เก็บรักษาไว้ และเมื่อคำนึงถึงประโยชน์สำหรับการศึกษาในศาสตร์แขนงนี้สืบไป จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราช กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันพุธที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำมาจัดแสดง ไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
        สัตตมงคลเหล่านี้ แต่ละชิ้นมีที่มาและความสำคัญอย่างยิ่ง ประกอบด้วย
           ๑. พระตำราไหว้ครูฉบับครูเกษ พระราม ตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๙๗
           ๒. หัวโขนพระภรตฤษี (ผู้รับเทวโองการจากพระพรหมมาถ่ายทอดแก่มนุษย์โลก)
           ๓. หัวโขนพระพิราพ (ปางหนึ่งของพระอิศวรผู้ให้กำเนิดการฟ้อนรำ)
           ๔. เทริดโนราพร้อมหน้าพราน (โนราเป็นละครดั้งเดิมปรากฏตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา)
           ๕. ตู้เทวรูป พร้อมเทวรูป ๕ องค์
           ๖. ไม้เท้าหน้าเนื้อ (เป็นไม้ไผ่หัวเป็นรูปหน้าเนื้อสมัน แต่ไม่มีเขา)
           ๗. ประคำโบราณ และแหวนพิรอด (ทำจากผ้าถักลงยันต์แล้วพันด้วยด้าย)
 
        *คำว่า “ครอบครู” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายว่า พิธีตั้งครูโขนเพื่อให้ผู้นั้นสามารถเป็นผู้ครอบศิษย์ต่อไป
        **วันพฤหัสบดี เป็นวันที่มีความหมายถึงวันครู เนื่องจากพระพฤหัสบดี (หรือ คุรุ) เป็นครูของเทพทั้งหลาย ประติมากรรมแสดงเป็นรูปนักบวชสวมสร้อยประคำ มีพาหนะเป็นกวางที่น่าจะหมายถึง กวางในป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน สถานที่ปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าและเป็นที่อยู่ของเหล่าฤๅษีนักบวช
 
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พิธีไหว้ครูและตำราครอบโขนละคร. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ไทยแบบเรียน (แผนกการพิมพ์) (ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกเอก พระยาอนุรุทธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) อดีตผู้บัญชาการกรมมหรสพ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔)
กรมศิลปากร. เทวดานพเคราะห์. กรุงเทพฯ: เฮงศักดิ์มั่นคง, ๒๕๖๐.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ศกุนตลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๕, จาก: https://vajirayana.org/ศกุนตลา/ภาคผนวก-๑-กล่าวด้วยนาฏกะ


Messenger