พุทธานุสติแห่งปวงศิลปิน มหรสพปูชนียปฏิมาทัสนานุตริยะแห่งกรมมหรสพ
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
เรื่อง พุทธานุสติแห่งปวงศิลปิน มหรสพปูชนียปฏิมาทัสนานุตริยะแห่งกรมมหรสพ
เรียบเรียงเนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี
การสร้างพระพุทธรูปให้แก่กรมมหรสพ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
พระพุทธรูป ถือเป็นปูชนียปฏิมาแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพบูชาและระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคติการสร้างพระพุทธรูปถวายไว้ที่วัดเพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาและถวายเป็นพุทธบูชา รวมถึงนิยมสร้างพระพุทธรูปไว้ตามหน่วยงานราชการและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องเจริญพุทธานุสติเตือนใจให้ข้าราชการหรือบุคคลากรในหน่วยงานนั้น ๆ ปฏิบัติงานบนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรมและดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย
กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานราชการหนึ่งที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ให้ดุริยางคศิลปินและคีตศิลปินได้สักการบูชาและเป็นเครื่องเจริญพุทธานุสติเช่นกัน ซึ่งพระพุทธรูปที่ว่านี้ มีทั้งหมด ๓ องค์ ได้รับมอบมาแต่กรมพิณพาทย์หลวง สังกัดกรมมหรสพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นมีขนาด และรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
องค์ที่ ๑ ซึ่งมีอายุครบรอบ ๑๐๐ ปี ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ เป็นพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว ปางมารวิชัย วัสดุทองสำริด พระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นทรงดอกบัวตูม เม็ดพระศกใหญ่ ครองจีวรห่มเฉียง ปลายจีวรเป็นแบบเขี้ยวตะขาบยาวจรดพระนาภี ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำ - บัวหงาย ฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดาน ๖ เหลี่ยม ที่บริเวณด้านหน้าของฐานมีป้ายโลหะแกะสลักระบุข้อความและปีสร้างอย่างชัดเจนว่า “กรมพิณพาทย์หลวง สร้าง ธ,ค,พ,ศ, ๒๔๖๕”
องค์ที่ ๒ หน้าตักกว้าง ๘ นิ้ว ปางสมาธิ วัสดุทองสำริด พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นทรงดอกบัวตูม เม็ดพระศกใหญ่ ครองจีวรห่มเฉียง ปลายจีวรเป็นแบบเขี้ยวตะขาบยาวจรดพระนาภี ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำ - บัวหงาย ฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดาน ๖ เหลี่ยม มีรอยบิ่นที่กลางฐาน ที่บริเวณด้านหน้าของฐานแกะสลักระบุข้อความและปีสร้างซึ่งเลขพุทธศักราชค่อนข้างเลือนลาง ระบุว่า “กรมพิณพาทย์หลวง สร้าง พุทธศักราช ๒๔๕๔”
องค์ที่ ๓ หน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว ปางมารวิชัย วัสดุทองสำริด พระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นทรงเปลว สามารถถอดพระรัศมีได้ เม็ดพระศกใหญ่ ครองจีวรห่มเฉียง ปลายจีวรเป็นเขี้ยวตะขาบยาวจรดพระนาภี ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดาน ๖ เหลี่ยม สำหรับพระพุทธรูปองค์ที่ ๓ นี้ ไม่มีจารึกหรือแผ่นป้ายโลหะแกะสลักระบุข้อความและปีสร้างแต่อย่างใด
จากรูปแบบและลักษณะของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ สามารถสังเกตและพอสันนิษฐานได้ว่าเป็นฝีมือการสร้างของช่างบ้านช่างหล่อซึ่งคนโดยทั่วไปนิยมเรียกพระพุทธรูปที่สร้างด้วยฝีมือช่างบ้านช่างหล่อนี้ว่า“พระรัชกาล” อันเป็นพระพุทธรูปที่นิยมหล่อกันในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรดังที่ ณัฐพงษ์แมตสองได้อธิบายถึง พระรัชกาล ไว้ว่า
พระรัชกาล เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดเล็กถึงกลาง โดยมากมีขนาดหน้าตักกว้างอยู่ที่ ๕ - ๑๐ นิ้วนิยมสร้างราวสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๘ โดยฝีมือของช่างบ้านช่างหล่อฝั่งธนบุรี ซึ่งคนในยุคนั้นนิยมสั่งพระรัชกาลไว้บูชาตามบ้านเรือนหรือถวายวัด พุทธลักษณะเด่นของพระรัชกาลฝีมือช่างบ้านช่างหล่อนี้ คือการดึงเอกลักษณ์ความงามและศิลปะของพระพุทธรูปในแต่ละยุคแต่ละสมัยมารวมไว้ในองค์เดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าพระรัชกาลนั้นอาจมีการใช้ฐานแบบศิลปะพระพุทธรูปล้านนาในลักษณะฐานบัวคว่ำบัวหงายและมีเกสรบัว หรือที่เรียกกันว่า ฐานบัวแบบปาละ ส่วนพระพักตร์นั้นอาจเป็นแบบศิลปะล้านนาบ้าง ศิลปะสุโขทัยบ้าง ศิลปะรัตนโกสินทร์บ้าง ฯลฯ เป็นต้น (ณัฐพงษ์แมตสอง,สัมภาษณ์, ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔)
ข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปให้แก่กรมมหรสพนี้นอกจากจารึกปีสร้างและข้อความตามปรากฏอยู่ที่ฐานพระพุทธรูปแล้ว ยังปรากฏหลักฐานเอกสารการสร้างอยู่ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๙ หน้า ๓๓๑๘ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๕แจ้งความกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก เรื่องสร้างพระพุทธรูปให้แก่กรมมหรศพ แจ้งความมา ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ อีกด้วย ความว่า
ด้วยได้รับรายงานกรมมหรศพว่า หุ้มแพร หลวงสรรเพลงสรวง ข้าราชการกรมพิณพาทย์หลวง ได้ชักชวนข้าราชการกรมมหรศพ สร้างพระพุทธรูปมอบให้เป็นสมบัติของกรมพิณพาทย์หลวง ๓ องค์ ๆ ที่หนึ่งมีขนาดหน้าตักกว้าง ๘ นิ้ว องค์ที่สองที่สามกว้าง ๕ นิ้ว กรมมหรศพได้รับพระพุทธรูปทั้ง ๓ นี้ไว้แล้ว
กรมบัญชาการกลางมหาดเล็กขอขอบใจ หุ้มแพร หลวงสรรเพลงสรวงและข้าราชการกรมมหรศพ ที่ได้มีความเลื่อมใสศรัทธาจัดสร้างพระพุทธรูปไว้เปนสมบัติของกรมมหรศพเปนอย่างยิ่ง กับขออนุโมทนาในการกุศลนี้ด้วย (ราชกิจจานุเบกษา๓๙, ๒๔๖๕: ๓๓๑๘)
จากข้อมูลที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์และที่มาของการสร้างพระพุทธรูปให้แก่กรมมหรสพไว้อย่างชัดเจนซึ่งมีความสอดคล้องกับจารึกแผ่นป้ายโลหะที่สลักระบุปีสร้างที่บริเวณฐานของพระพุทธรูป ดังจะได้อธิบายรายละเอียดดังนี้
๑) พระพุทธรูปองค์ที่บริเวณด้านหน้าของฐานมีป้ายโลหะแกะสลักว่า “กรมพิณพาทย์หลวง สร้าง ธ,ค,พ,ศ, ๒๔๖๕”พระพุทธรูปองค์นี้สร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕และได้มอบให้กรมมหรสพในเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ (การขึ้นศักราชใหม่ก่อนวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ นั้น แต่เดิมเริ่มนับวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นศักราชใหม่)ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา
๒) พระพุทธรูปองค์ที่บริเวณด้านหน้าของฐานแกะสลักระบุข้อความและปีสร้างว่า “กรมพิณพาทย์หลวง สร้าง พุทธศักราช ๒๔๕๔”พระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างไว้ก่อนแล้วแต่เดิมในพุทธศักราช ๒๔๕๔ และได้นำมามอบให้กรมมหรสพในคราวเดียวกันนี้
๓) พระพุทธรูปองค์ที่ไม่มีจารึกและแผ่นป้ายโลหะแกะสลักระบุข้อความและปีสร้างสำหรับพระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นและมอบให้กรมมหรสพในคราวเดียวกัน เนื่องด้วยขนาดหน้าตักของพระพุทธรูปองค์นี้ มีขนาดกว้าง ๕ นิ้ว ตรงตามที่ระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา
จากการวิเคราะห์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ที่ได้รับมอบมาจากกรมมหรสพและปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร นั้น น่าจะเป็นพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ตามที่ได้ระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษาเรื่องแจ้งความกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก เรื่อง “สร้างพระพุทธรูปให้แก่กรมมหรศพ”ด้วยเหตุผลทั้งในเรื่องของขนาดหน้าตักกว้างของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ที่มีขนาดตรงตามที่ระบุไว้ในในราชกิจจานุเบกษา และรูปแบบการหล่อของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ที่มีลักษณะการหล่อแบบพระรัชกาลซึ่งเป็นลักษณะการหล่อพระพุทธรูปที่นิยมกันในช่วงพุทธศักราชตามที่ระบุไว้ที่ฐานพระพุทธรูปและในราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าว
นอกจากนี้ นายปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ อดีตผู้อำนวยการกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ยังได้กล่าวถึงพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ ไว้ว่า
เห็นพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ ตั้งแต่เข้ารับราชการที่กลุ่มดุริยางค์ไทย เข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับมอบมาจากกรมมหรสพ โดยพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) เป็นคนบอกบุญข้าราชการในสังกัดกรมมหรสพ ให้ร่วมกันหล่อพระถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปี๊บ คงลายทอง, สัมภาษณ์, ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔)
สำหรับประวัติของผู้ที่ได้ชักชวนให้ข้าราชการในกรมมหรสพสร้างและมอบพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ให้เป็นสมบัติของกรมพิณพาทย์หลวงนั้น คือพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) ท่านเกิดเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๓๐ ที่ตำบลผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายจันและนางพันเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์จากที่บ้านโดยเฉพาะซออู้นั้นสีได้ดีมาก เมื่ออายุได้ ๑๓ – ๑๔ ปี ได้มาเรียนหนังสืออยู่ที่วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร จนอายุ ๑๖ ปี จึงเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาได้ศึกษาการบรรเลงดนตรีไทยเพิ่มเติมกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จนสามารถเป่าปี่ได้ดี ทั้งปี่ใน ปี่นอกและปี่ชวา ส่วนการบรรเลงเครื่องสายนั้นสามารถสีซอด้วงและสีซออู้ได้ดี โดยเฉพาะซออู้นั้น มีฝีมือจนเป็นที่เลื่องลือไปถึงเขตพระราชฐานใน หากมีการบรรเลงหรือหัดเครื่องสายกันในวังจะต้องเชิญพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) ไปเป็นครูผู้สอนหรือบรรเลงร่วมวงอยู่เสมอ ด้านชีวิตครอบครัวนั้น สมรสครั้งแรกกับนางสาวทับทิม มีบุตรด้วยกัน ๔ คน สมรสครั้งที่ ๒ กับหม่อมหลวงชลินทร์ ทินกร มีบุตรด้วยกัน ๓ คน ส่วนนามสกุล “กมลวาทิน” นั้น เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีนามเดิมว่า “บัว”
ในพุทธศักราช ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนสรรเพลงสรวง” และในปีเดียวกันนี้ ยังได้พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลามีตำแหน่ง “รองหุ้มแพร” อีกด้วย ในพุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสรรเพลงสรวง” และในพุทธศักราช ๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระสรรเพลงสรวง” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์สุดท้ายที่ได้รับพระราชทาน
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) ยังคงรับราชการต่อมาและได้ทำหน้าที่เป่าปี่อยู่ในวงปี่พาทย์หลวง ในบั้นปลายชีวิตขณะเตรียมตัวไปทำหน้าที่เป่าปี่ชวาลงเรือในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคท่านได้ป่วยด้วยโรคริดสีดวงทวารและตกโลหิตเสียก่อน จึงต้องเข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลางและไม่นานจากนั้นได้ตกโลหิตอีกครั้งและมีโรคบาดทะยักแทรกจึงเป็นเหตุให้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ ณ บ้านถนนสามเสน รวมอายุได้ ๓๙ ปี
ปัจจุบันพระพุทธรูปที่ได้รับมอบมาจากกรมมหรสพทั้ง ๓ องค์นั้น มีอายุนับตั้งแต่วันสร้างครบ ๑ ศตวรรษทุกองค์แล้ว ซึ่งถูกเก็บรักษาดูแลและประดิษฐานอยู่ที่กลุ่มดุริยางค์ไทยสำนักการสังคีต กรมศิลปากรโดยในทุกปีจะได้อัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพิธีไหว้ครูดนตรีไทยของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
การที่พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) ได้ชักชวนข้าราชกรมมหรสพสร้างพระพุทธรูปและมอบไว้เป็นสมบัติของกรมมหรสพนี้แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสและความศรัทธาของศิลปินดนตรีไทยในกรมมหรสพที่มีต่อพระพุทธศาสนาจึงสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นไว้ เพื่อให้บรรดาศิลปินทั้งหลายเมื่อได้เห็นพระพุทธรูปแล้วสามารถพึงระลึกถึงพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อันจะส่งผลให้ศิลปินทั้งปวงเกิดความเจริญงอกงามทางสมาธิ สติปัญญาและจิตใจด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ จึงถือเป็นปูชนียปฏิมาที่ควรค่าแก่การสักการบูชายิ่งของบรรดาดุริยางคศิลปินและคีตศิลปินมาเป็นเวลาถึง ๑๐๐ ปี นับตั้งแต่ยุคสร้างพระพุทธรูปและมอบให้กรมมหรสพ ในพุทธศักราช ๒๔๖๕ จนถึงยุคกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๖๕ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ คือ“พุทธานุสติแห่งปวงศิลปินมหรสพปูชนียปฏิมาทัสนานุตริยะแห่งกรมมหรสพ”โดยแท้
รายการอ้างอิง
แจ้งความกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก เรื่องสร้างพระพุทธรูปให้แก่กรมมหรศพ. ราชกิจจานุเบกษา
๓๙ (๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๕): ๓๓๑๘.
ณัฐพงษ์แมตสอง. ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร.สัมภาษณ์,
๒๗ กันยายน ๒๕๖๔.
ปี๊บ คงลายทอง. ศิลปินแห่งชาติ.สัมภาษณ์,๕ ตุลาคม ๒๕๖๔.
เรียบเรียง : ดร. ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ
กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต กรมศิลปากร