๑ สหัสวรรษ "จารึกพระศรีสูริยลักษมี"
ในวาระพุทธศักราช ๒๕๖๕ “จารึกพระศรีสูริยลักษมี” หนึ่งในจารึกหลักสำคัญที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีเนื้อหาระบุถึงช่วงเวลาครบรอบสหัสวรรษในปีนี้นั้น วันนี้ เพจคลังกลางฯ ใคร่ขอหยิบยกจารึกหลักนี้ขึ้นมากล่าวถึง โดยจารึกหลักนี้ ลักษณะคล้ายใบเสมา สลักจากหินทราย ใช้อักษรขอมโบราณจารไว้ ๔ ด้าน ซึ่งในส่วนของด้าน ๓ มีการจารถึงช่วงเวลาไว้ความว่า “ศก ๙๔๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เสวยฤกษ์กฤตติกา วันพุธ” นำไปสู่การตีความว่าคือช่วงเวลา “มหาศักราช ๙๔๔” ตรงกับ “พุทธศักราช ๑๕๖๕” หรือกว่า ๑๐๐๐ ปีมาแล้ว
.
โดยจากการตรวจสอบช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ จารึกหลักนี้คงถูกจารขึ้นในรัชกาลพระเจ้าสูริยวรมันที่ ๑ (ครองราชย์ราวพ.ศ. ๑๕๔๕ - ๑๕๙๓) สอดรับกับเนื้อหาในจารึกที่ได้ออกนามพระองค์ไว้หลายครั้ง ดังความในจารึกด้าน ๑ มีข้อความกล่าวสรรเสริญพระศรีสูรยวรมเทวะ ระบุว่า “...ข้าพเจ้าขอนอบน้อม พระศรีสูรยวรมเทวะ ผู้ครองราชสมบัติด้วยอำนาจอันเข้มแข็ง ... พระศรีสูรยวรมเทวะ ผู้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่...” และปรากฏอีกครั้งในเนื้อหาหลักว่า “เมื่อมีการแบ่งราชสมบัติของพระศรีสูรยวรมัน พระนางผู้เป็นเทวีได้รับมรดกในราชสมบัติ” อีกด้วย
.
จึงอาจตีความได้ว่าจารึกหลักนี้ เป็นจารึกเฉลิมพระเกียรติเจ้านางสตรีผู้มีนามว่า “กัมรเตงอัญเทวี ศรีสูรยลักษมี” ด้วยเนื้อหามีการกล่าวถึงพระราชกิจสำคัญ เช่น ทรงกัลปนาทรัพย์สินและบริวารถวายแด่พระแห่งสิงหล (ลังกา) โดยประวัติระบุว่าพระนางเป็นธิดาของพราหมณ์ผู้แตกฉานในฤคเวท มีพระอนุชานามว่าศิวาสบท ผู้เป็นขุนนางสำคัญในราชสำนัก ทั้งนี้ บทบาทสำคัญของพระนาง ยังระบุในจารึกว่า “...พระเทวีพร้อมด้วยคณะ ผู้มุ่งหน้าต่อบาทของพระศิวะ ได้ประดิษฐานรูปพระปฏิมาของพระวิษณุและพระหริเทพผู้ทำลาย ศิวลึงค์ พร้อมกับดินแดนตำแหน่งที่ตั้ง ให้วางชิดกันในถ้ำอันเป็นแหล่งน้ำแห่งลูกศร ไว้ให้เป็นที่บูชาในหมู่บ้าน ในกาลนั้น พระนางได้สร้างพระศิวลึงค์ยอดทองคำไว้ในเมืองที่กลุ่มบัณฑิตชนจำนวนมากซื้อไว้ ชื่อว่า สกันทวารนา ให้เป็นที่กล่าวถึงความสำเร็จ และชัยชนะของพระองค์” แสดงให้เห็นว่าพระนางมีบทบาทเรื่องการบำรุงศาสนา มีการสร้างศาสนวัตถุประดิษฐานบูชา แม้จะไม่ทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้านที่ทรงมากัลปนา หรือถ้ำที่ทรงกล่าวถึงในจารึกก็ตาม แต่ก็สามารถอธิบายได้ถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลงในพื้นที่ภาคกลาง
.
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจารึกหลักสำคัญ คือ จารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๑) ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นจารึกเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทกัมรเตง กำตวน อัญศรีสุริยวรรมเทวะ” พระราชสวามีของพระนาง ทั้งยังสอดรับกับช่วงเวลา “ศักราช ๙๔๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ วันอาทิตย์” อันเป็นปีบรรจบครบ ๑๐๐๐ ปีเช่นเดียวกัน (ปัจจุบันจารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๑) จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
.
เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ และวริยา โปษณเจริญ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ / เทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.