หนังสือเรื่อง “ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา” จัดพิมพ์ในงานพระศพ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ครบศตมาห​ ณ​ วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.​ 2472
หอสมุดแห่งชาติขอนำเสนอรายการ “หนังสือเก่าเล่าเรื่อง” ซึ่งเป็นการนำหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติมาสรุปเนื้อหาให้ทุกท่านได้อ่านกันเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี
 
วันนี้ขอนำเสนอหนังสือเรื่อง “ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา” จัดพิมพ์ในงานพระศพ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ครบศตมาห​ ณ​ วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.​ 2472 โดย นางสาวอุดมพร เข็มเฉลิม บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
 
วัตถุสถานซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาทั้งที่ทรงสร้างใหม่ และที่ทรงปฏิสังขรณ์นั้นมี 4 ประเภท คือ สำหรับบำรุงพระพุทธศาสนา สำหรับพระราชอิสสริยยศ สำหรับรักษาพระราชอาณาเขตต์ และสำหรับบำรุงบ้านเมือง
 
วัตถุสถานสำหรับบำรุงพระศาสนาพระอารามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ ได้แก่ วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี ทรงอุทิศถวายพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี วัดเทพธิดาราม สร้างพระราชทานพระเกียรติยศพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอับสรสุดาเทพ และวัดราชนัดดาราม สร้างพระราชทานพระเกียรติยศพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดีพระอารามที่ทรงบูรณะทั้งสิ้น 17 แห่งได้แก่ (1) วัดราชโอรส เดิมชื่อวัดจอมทอง อยู่ริมคลองด่านใกล้บางขุนเทียน ทรงสร้างถวายรัชกาลที่ 2 ในครั้งเสด็จไปขัตตาทัพพะม่าที่กาญจนบุรี (2) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงบูรณะทั่วทั้งพระอาราม ที่สำคัญคือ พระอุโบสถ ผนังด้านนอกเดิมเป็นลายรดน้ำพื้นสีแดง แกเป็นลายปั้นปิดทอง พื้นประดับกระจก ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต โปรดให้สร้างชั้นเบญจาหนุนบุษบกให้สูง (3) วัดพระเชตุพน ขยายเขตพระอาราม สร้างวิหารพระนอนเดิมเป็นที่วังกรมหลวงนรินทรเทวี รื้อกุฎีสงฆ์ซึ่งเดิมเป็นเครื่องไม้แล้วก่อเป็นตึก สร้างพระมหาเจดีย์นามว่า พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมนิทาน และพระมหาเจดีย์มุนีปัตตบริขาร (4) วัดอรุณ ทรงสร้างพระปรางค์เป็นที่ปรากฎมาถึงทุกวันนี้ (5) วัดกลางเมืองสมุทรปราการ (6) วัดนางนอง (7) วัดพระพุทธบาท เกิดไฟไหม้พระมณฑปน้อยในสมัยรัชกาลที่ 2 ถึง ร.3 ได้ทรงสร้างพระมณฑปน้อยขึ้นแทน (วัดมหาธาตุ เดิมชื่อวัดสลัก ทรงสร้างศาลารายรอบระเบียงด้านละ 4 หลัง สร้างศาลาเรียนหนังสือด้านตะวันออก (9) วัดโมลีโลก เดิมชื่อวัดท้ายตลาด ทรงโปรดให้หล่อรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) กับสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไว้สักการะหน้าหอพระเจ้าในพระบรมมหาราชวังส่วนรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไว้ที่วัดแห่งนี้ (10) วัดยานนาวา เดิมชื่อวัดคอกควาย ทรงสร้างสำเภาที่หลังพระอุโบสถ (11) วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมชื่อวัดบางว้าใหญ่ ถึง ร.3 เกิดไฟไหม้ โปรดให้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ (12) วัดราชสิทธิ์ เดิมชื่อวัดพลับ (13) วัดศาลาปูน อยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ทรงสร้างกุฎีตึกพระราชทานพระธรรมราชานุวัต (คุ้ม) (14) วัดสระเกศ เดิมชื่อวัดสระแก อยู่ปากคลองมหานาค โปรดให้สร้างพระวิหารประดิษฐานพระอัฏฐารสอัญเชิญมาจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ทรงสร้างเจดีย์ภูเขาทองแต่ไม่สำเร็จ เพราะดินทรุด (15) วัดสุทัศน์เทพวราราม อยู่ถนนบำรุงเมือง ทรงสร้างพระวิหารหลวง ทรงหล่อพระพุทธรูปพระประธานด้วยกลักฝิ่น สร้างสัตตมหาสถาน และได้มีการนิมนต์พระไปอยู่ประจำต่อมา (16) วัดสุวรรณดาราราม อยู่ริมป้อมเพ็ชร พระนครศรีอยุธยา (17) วัดสังกระจายอยู่คลองบางวัวทองหรือคลองลำเจียกน้อย เมื่อครั้งสร้างพระอุโบสถใน ร.1 พบพระกัจจายกับสังข์ตัวหนึ่ง จึงพระราชทานนามว่า วัดสังข์กัจจาย ต่อมาคนเรียกชื่อเป็น วัดสังกระจาย
 
วัดที่ทรงอุปการะและปฏิสังขรณ์ มีทั้งสิ้น 33 แห่ง ได้แก่ (1) วัดกัลยาณมิตร เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) สร้างขึ้นถวายเป็นพระอาราม ร.3 ทรงสร้างพระพุทธรูปใหญ่ ถวายพระนามว่า พระพุทธไตรรัตนนายก (2) วัดกาญจนสิงหาศน์ คลองบางพรหม เดิมชื่อวัดทอง สมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงสถาปนา (3) วัดคฤหบดี ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกใต้บ้านปูน พระยาราชมนตรี (ภู่) สร้างขึ้น ร.3 พระราชทานพระพุทธแทรกคำซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันท์เป็นพระประธาน (4) วัดคูหาสวรรค์ คลองบางจาก เดิมชื่อวัดศาลาสี่หน้า ร.1 เชิญพระประธานวัดนี้มาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพน นามว่า พระพุทธเทวปฏิมากร (5) วัดคงคาราม เมืองเพชรบุรี (6) วัดเครือวัลย์วรวิหาร คลองมอญฝั่งใต้ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธ์) กับเจ้าจอมเครือวัลิ เป็นผู้สร้าง (7) วัดจักรวรรดิราชาวาส เดิมชื่อวัดสามปลื้ม เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิง สิงหเสนี) สถาปนาขึ้น ร.3 ทรงอัญเชิญพระบางจากเวียงจันท์มาประดิษฐาน ถึง ร.4 คืนพระบางไปไว้ที่เมืองหลวงพระบาง ให้มีพระวิหารและรูปจำลองพระบางจนถึงทุกวันนี้ (วัดจันทาราม ปากคลองบางยี่เรือ เดิมชื่อวัดบางยี่เรือกลาง พระยาสุรเสนาสร้าง (9) วัดชนะสงคราม ถนนจักรพงศ์ เดิมชื่อวัดตองปุ สมเด็จฯ กรมพระราชวังมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างขึ้น (10) วัดดุสิดารามอยู่ลำแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือปากคลองบางกอกน้อย เดิมชื่อวัดเสาประโคน กรมหลวงศรีสุนทรเทพ ทรงสถาปนา (11) วัดทองธรรมชาติ (12) วัดหนัง (13) วัดนาคกลาง เดิมชื่อวัดกลาง ภายหลังได้รวมเข้ากับวัดนาค จึงเรียกว่าวัดนาคกลาง (14) วัดบพิตรพิมุข เดิมชื่อวัดตีนเลน หรือวัดเชิงเลน (15) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเชิญพระพุทธชินสีห์จากเมืองพิษณุโลกมาประดิษฐาน และทรงสร้างตำหนักพระปั้นหยาพระราชทานแก่เจ้าฟ้ามงกุฎในครั้งผนวช (16) วัดบวรมงคล เดิมชื่อวัดลิงขบ (17) วัดปรินายก ริมถนนราชดำเนินนอก เดิมชื่อวัดพรหมสุรินทร์ ร.3 ทรงหล่อพระประธาน (18) วัดปากน้ำ ริมคลองด่าน (19) วัดประทุมคงคา ถนนสำเพ็ง เดิมชื่อวัดสำเพ็ง (20) วัดพระยาทำ (21) วัดภคินีนาถ เดิมชื่อวัดบางจาก (22) วัดมหรรณพาราม ถนนบ้านตะนาว (23) วัดรังษีสุธาวาส (24) วัดราชบุรณะ ถนนพาหุรัด เดิมชื่อวัดเลียบ (25) วัดรัชฎาธิฐาน คลองบางพรหม เดิมชื่อวัดเงิน (26) วัดสมอราย เจ้าฟ้ามงกุฎผนวชและประทับที่วัดแห่งนี้ (27) วัดสังเวชวิษยาราม เดิมชื่อวัดบางลำภู (28) วัดสัมพันธวงศาราม ถนนสำเพ็ง เดิมชื่อวัดเกาะแก้วลังการาม (29) วัดสุวรรณาราม คลองบางกอกน้อย เดิมชื่อวัดทอง (30) วัดเศวตฉัตร บางลำภู (31) วัดอมรินทราราม ริมคลองบางกอกน้อย เดิมชื่อวัดบางว้าน้อย (32) วัดอับสรสวรรค์ คลองด่าน เดิมชื่อวัดหมู ร.3 พระราชทานฉันสมอไปประดิษฐาน (33) วัดอัมพวันเจติยาราม เหนือปากคลองอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม
 
ทรงสร้างพุทธเจดีย์ดังต่อไปนี้
 
ทรงสร้างพระพุทธรูปยืน ถวายพระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สูง 6 ศอก หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์แล้วหุ้มทองคำ ทรงเครื่องต้นอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ ประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเลือกพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ พระพุทธเจษฎา พระพุทธราชาภิเษก พระพุทธชินสีห์ตรีโลกนาถ พระพุทธชินราชรังสรรค์ ทั้ง 4 องค์เป็นพระทรงเครื่องลงยาราชาวดีปางห้ามสมุท ประดิษฐานในหอพระน้อยหน้าหอพระสุราลัยพิมาน นอกจากนี้ยังทรงสร้างพระพุทธรูปชัยวัฒนะ เป็นพระพุทธรูปเท่าจำนวนพระชันษา พระพุทธนิมิต พระพุทธรังสรรค์ เครื่องทรงพระแก้วมรกต ทรงพระราชดำริสร้างเครื่องทรงถวายสำหรับระดูร้อน ระดูฝน และระดูหนาว พระประธานทรงโปรดให้หล่อขึ้น 3 องค์ คือ พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชโอรส ร.4 ถวายพระนามว่า พระพุทธอนันตคุณ พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม ร.4 ถวายพระนามว่า พระพุทธตรีโลกเชษฐ และพระประธานในพระอุโบสถวัดราชนัดดา หล่อด้วยทองแดงได้มาจากเมืองจันทึก นครราชสีมา ร.4 ถวายพระนามว่า พระพุทธมหาโลกาภินันท์สร้างพระพุทธรูปต่าง ๆ ตามเรื่องพุทธประวัติด้วยทองแดงซึ่งได้มาจากเมืองจันทึก พระโตในพระวิหารวัดกัลยาณมิตร สร้างตามแบบอย่างวัดพระเจ้าพนัญเชิง ร.4 ทรงถวายพระนามว่า พระพุทธไตรรัตนนายก ทรงสร้างพระนอน 2 องค์ คือ พระนอนในพระวิหารวัดพระเชตุพน เป็นพระใหญ่ที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ กับพระนอนในวิหารวัดราชโอรส พระสมุทรเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ไม้สิบสอง อยู่กลางเกาะ ร.3 โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างตามพระราชดำริของ ร.2 ทรงสร้างบรมบรรพตในคราวปฏิสังขรณ์วัดสระเกศ เป็นเจดีย์ใหญ่อย่างภูเขาทองที่พระนครศรีอยุธยา แต่สร้างไม่แล้วเสร็จ ถึง ร.4 โปรดฯ ให้ทำการที่ค้างอยู่ พระราชทานนามว่า บรมบรรพต สำเภาวัดยานนาวา สร้างขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์วัดคอกกระบือ เป็นพระเจดีย์มีฐานเป็นสำเภาเท่าขนาดเรือจริง ในสำเภานี้มีรูปหล่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์กับรูปชาลีกัณหาอยู่ที่ห้องท้ายบาหลี พร้อมกับให้ขนานนามวัดใหม่ว่า วัดยานนาวา โลหปราสาท เป็นเจดีย์ตามแบบลังกา พระราชทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระปรางค์วัดอรุณ โปรดให้ก่อเสริมพระปรางค์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อเป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร สูง 33 วาเศษ ทรงสร้างพระมหาเจดีย์ 4 องค์ คือ พระเจดีย์ศรีสรรเพ็ชดาญาณ สร้างในสมัย ร.1 ถึง ร.3 ทรงสร้างพระเจดีย์เคียงข้างละองค์ นามว่า พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมนิทาน และพระมหาเจดีย์มุนีปัตตบริขาร ถึง ร.4 ให้ถ่ายอย่างพระเจดีย์วัดสวนหลวงสบสวรรค์ที่พระนครศรีอยุธยามาสร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง
 
วัตถุสถานที่ทรงสร้างเฉลิมพระราชอิสสริยยศ ได้แก่ พระราชมนเทียรในหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เดิมมุงกระเบื้องดีบุกเปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้องเคลือบ พระมหามนเทียรหมู่พระที่นั่งจักพรรดิพิมานในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเดิมเป็นเสาไม้ เปลี่ยนเป็นเสาใหญ่ก่ออิฐ ทำซุ้มแกลด้านนอก ผนังด้านในพระที่นั่งไพศาลทักษิณโปรดให้เขียนรูปต่าง ๆ ตำหนักข้างในพระบรมมหาราชวัง รื้อตำหนักทั้งปวงสร้างเป็นตึกทั้งหมด ย้ายตำหนักเขียวของกรมพระยาเทพสุดาวดีสร้างเป็นกุฎิสงฆ์ที่วัดอมรินทาราม และรื้อตำหนักแดงของกรมพระศรีสุดารักษ์ย้ายมาปลูกถวายสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีที่พระราชวังเดิม พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เดิมเป็นพลับพลาเครื่องไม้ เรียกว่า พลับพลาสูง โปรดให้รื้อสร้างเป็นปราสาทพระราชทานนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และเปลี่ยนนามใหม่ว่า พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ใน ร.4 ศาลาลูกขุน คลัง ห้องเครื่อง ทิมดาบ เหล่านี้เป็นเครื่องไม้ รื้อใหม่ทำเป็นตึก สร้างโรงปืนใหญ่ในพระราชวัง เป็นโรงก่ออิฐถือปูนฝาไม้ไว้ประตูวังประตูละคู่ เลือกปืนใหญ่ของงามตั้งประจำไว้โรงละกระบอก ประตูพระราชวัง เปลี่ยนรูปทรงเป็นซุ้มฝรั่งตามอย่างวังหลวงที่พระนครศรีอยุธยา
 
วัตถุสถานทรงสร้างสำหรับรักษาพระราชอาณาเขตต์สร้างป้อมรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัย ร.2 โปรดฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) สร้างเมืองสมุทรปราการ ให้มีป้อมปราการอยู่ทางทิศตะวันออก 4 ป้อมคือ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธิ์ และสร้างบนเกาะกลางน้ำอีก 2 ป้อมคือ ป้อมผีเสื้อสมุทร กับป้อมนาคราช และให้ขุดคลองปากลัดจากเมืองนครเขื่อนขันธ์มายังกรุงเทพฯ ถึง ร.3 หลังจากทรงปราบกบฎเวียงจันท์แล้ว ได้เกิดสงครามกับญวน จึงโปรดให้สร้างป้อมเพิ่มที่สมุทรปราการชื่อ ป้อมปีกกา อยู่ต่อจากป้อมประโคนชัย กับป้อมตรีเพ็ชร สร้างที่บางจะเกรง และต่อมาได้สร้างป้อมคงกระพันที่บางปลากด ทางฝั่งตะวันตกเหนือเมืองสมุทรปราการ พ.ศ. 2388 โปรดให้กรมหลวงรักษ์รณเรศรเป็นแม่กองสร้างป้อมเพิ่มที่นครเขื่อนขันธ์คือ ป้อมมหาสังหารกับป้อมเพ็ชรหึง ได้มีการทำป้อมปีกกาต่อป้อมนาคราชลงไป เรียกว่า ปีกกาพับสมุทร ให้ถมศิลาปิดปากอ่าวที่แหลมฟ้าผ่าไว้เป็นทางเรือเดินเป็นช่วง ๆ เรียกว่า โขลนทวาร ถึง พ.ศ. 2391 โปรดให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) สร้างป้อมใหญ่ที่ตำบลมหาวงศชื่อ ป้อมเสือซ่อนเล็บ
 
ป้อมรักษาปากน้ำอื่น ๆ คือ ป้อมวิเชียรโชฎึก รักษาปากน้ำท่าจีนที่เมืองสมุทรสาคร ป้อมพิฆาฏข้าศึก รักษาปากน้ำเมืองสมุทรสงคราม และป้อมรักษาปากน้ำบางปะกง เมืองฉะเชิงเทรา แต่ไม่ปรากฎชื่อ
 
สร้างเมืองหน้าศึกมีป้อมปราการ 3 เมือง คือ ที่ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี ที่ปากน้ำเมืองจันทบุรี มีป้อมชื่อ ป้อมไพรีพินาศกับป้อมพิฆาฏปัจจามิตร์ และที่ตำบลบ่อยาง เมืองสงขลา
 
สร้างเรือรบ ทรงสร้างเรือรบทั้งอย่างเก่าและอย่างใหม่ มี 3 ประเภทคือ (1) เรือสำหรับแม่น้ำ เป็นพวกเรือยาวมีเรือกิ่ง เรือเอกไชย เรือศรี เรือกราบ เป็นเรือสำหรับกระบวนเสด็จพยุหยาตรา เป็นยานพาหนะสำหรับยกกองทัพทางชลมารคแบบโบราณ มีทั้งสิ้น 24 ลำ (2) เรือรบสำหรับอ่าวทะเล เรียกว่า กำปั่นแปลง หัวเรือเป็นเรือปากปลา ท้ายเรือเป็นกำปั่น เจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้คิดแบบต่อขึ้น ร.3 พระราชทานนามลำแรกว่า เรือมหาพิไชยฤกษ์ และมีการต่อเรือขึ้นอีก 31 ลำ และได้ปลูกโรงรักษาเรือนี้ไว้ริมคลองบางกอกใหญ่ กับคลองมหานาค(3) เรือกำปั่นแล่นในทะเล มีทั้งสิ้น 12 ลำ
 
สร้างปืนใหญ่ โปรดให้หาช่างชำนาญการหล่อเหล็กเข้ามาจากเมืองจีนและหล่อขึ้น มี 2 แบบเรียกว่า ปืนรักษาศาสนา และปืนสัมมาทิษฐิเดิมได้ทำโรงหลังคาช่อฟ้าที่ลานข้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตอนนี้อยู่สนามหน้ากระทรวงกลาโหม
 
วัตถุสถานทรงสร้างสำหรับบำรุงบ้านเมือง ทรงตั้งเมืองทั้งสิ้น 25 เมือง คือในท้องที่ฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นมณฑลนครราชสิมา และมณฑลอุดร 19 เมือง กับตั้งในท้องที่ฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นมณฑลปราจิณบุรี 6 เมือง ขุดคลอง ได้แก่ คลองสุนัขหอน จังหวีดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม ตรงน้ำชนเข้าไปในทุ่งโพธิ์ คลองบางบอน จังหวัดธนบุรี ตั้งแต่วัดปากน้ำถึงบางขุนเทียน กับตั้งแต่บางขุนเทียนถึงวัดเลา และคลองบางขนาก ตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก
 
ผู้สนใจสามารถอ่านหนังสือ "ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา" ได้ที่ห้องหนังสือหายาก ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักหอสมุดแห่งชาติ
 
บรรณานุกรม
 
ราชบัณฑิตยสภา. ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ครบศตมาหณวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2472) 


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.