ปี ๒๔๙๒ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเผยแพร่วัฒนธรรมในการดูกีฬา
ปี ๒๔๙๒ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเผยแพร่วัฒนธรรมในการดูกีฬา
.
>> พ.ศ.๒๔๘๕ รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้ง “สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ” ขึ้น โดยมีหน้าที่ดังนี้ ๑) ค้นคว้า ดัดแปลง รักษา และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งชาติที่มีอยู่ ๒) ค้นคว้า ดัดแปลง และกำหนดวัฒนธรรมที่ควรรับไว้หรือปรับปรุงต่อไป ๓) เผยแพร่วัฒนธรรมแห่งชาติให้เหมาะสมกับกาลสมัย ๔) ควบคุมและหาวิธีปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งชาติในจิตใจของประชาชนจนเป็นนิสัย ๕) ให้ความเห็น รับปรึกษาและปฏิบัติการตามความมุ่งหมายของรัฐบาลในกิจกรรมอันเกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยกำหนดให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ๔ สำนัก คือ สำนักวัฒนธรรมทางจิตใจ สำนักวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี สำนักวัฒนธรรมทางศิลปกรรม และสำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
.
>> จากเอกสารจดหมายเหตุชุดจังหวัดจันทบุรี ปี ๒๔๙๒ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้ขอความร่วมมือคณะกรมการจังหวัดจันทบุรีเผยแพร่เรื่อง “วัฒนธรรมในการดูกีฬา” ให้ข้าราชการและประชาชนทราบ เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประจำชาติให้ดียิ่งขึ้น โดยระบุถึงข้อควรปฏิบัติของผู้ดูการเล่นกีฬาไว้ดังนี้
ข้อ ๑. ผู้ดูพึงปรบมือแสดงความยินดีต้อนรับผู้แข่งขันทุกฝ่ายขณะเข้าสู่สนาม และปรบมือให้เกียรติแก่ผู้เล่นดี ไม่ว่าฝ่ายไหนด้วย
ข้อ ๒. ผู้ดูไม่บังควรเย้ยหยันผู้แข่งขันและเจ้าหน้าที่ด้วยประการใดๆ
ข้อ ๓. ผู้ดูไม่บังควรรบกวนผู้แข่งขันหรือเจ้าหน้าที่ และไม่บังควรก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างผู้แข่งขันด้วยกันหรือกับผู้ดู
ข้อ ๔. ผู้ดูพึงยอมรับคำตัดสินของเจ้าหน้าที่อย่างเด็ดขาด และเคารพกฎข้อบังคับและกติกาทั้งปวง
ข้อ ๕. ผู้ดูไม่บังควรเปล่งวาจาสนับสนุนผู้เล่นไปในทางที่ผิด
>> ทั้งนี้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้เหตุผลว่าการเล่นกีฬาเป็นคุณและเป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้เล่น เพราะก่อให้เกิดพลานามัย และเป็นประโยชน์แก่ชาติทั้งในทางสมรรถภาพและความสามัคคี ถ้าผู้เล่น ผู้ดู รู้ตัวและระลึกอยู่เสมอถึงประโยชน์ดังกล่าว ไม่เผลอตนปล่อยใจให้ตกอยู่ในทางอคติ ก็จะเป็นการส่งเสริมและเพิ่มพูนวัฒนธรรมประจำชาติของคนไทยให้สูงยิ่งขึ้น
.
ผู้สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี และระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ https://archives.nat.go.th
ผู้เรียบเรียง
นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
------------------------------
อ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดจังหวัดจันทบุรี จบ ๑.๑.๑.๙/๗๒ เรื่องขอความร่วมมือเผยแพร่วัฒนธรรมในการดูกีฬา (๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๒).
ประวัติกระทรวงวัฒนธรรม. เข้าถึงได้จาก https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=3092 สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕.
อดีต – ปัจจุบัน สนามหลักในซีเกมส์ ๑๙๕๙-๒๐๑๗. เข้าถึงได้จาก https://pantip.com/topic/39443628 สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 650 ครั้ง)