สวัสดีค่ะ วันนี้อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ได้นำสาระน่ารู้เรื่อง นาคปัก ไปชมกันได้เลยค่ะ
นาคปักเป็นชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่ง ประดับบริเวณมุมประธานของชั้นวิมาน หรือชั้นหลังคาของปราสาทในวัฒนธรรมเขมร โดยทำเป็นรูปพญานาคอยู่ในโครงสามเหลี่ยม วิวัฒนาการมาจาก “ปราสาทจำลอง” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของอินเดียใต้ เช่น วิหารมาวลีปุรัม เมืองมหาพลิปุรัม รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย แล้วจึงแพร่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในวัฒนธรรมเขมรโบราณ การใช้ปราสาทจำลองประดับตกแต่งมุมชั้นวิมานของปราสาทเขมรพบได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ และปลาย พุทธศตวรรษที่ ๑๖ สมัยศิลปะเกลียง – บาปวน รัชสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๑ ถึงพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ ๒ จึงเริ่มถูกแทนที่ด้วยนาคปัก ปราสาทที่ประดับด้วยนาคปักในช่วงเริ่มแรก ได้แก่ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัด ศรีสะเกษ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว และปราสาทแม่บุญตะวันตก จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เมื่อเข้าสู่สมัยนครวัด พุทธศตวรรษที่ ๑๗ การใช้นาคปักประดับปราสาทมีความแพร่หลายมากขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยบายน รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระองค์ทรงนับถือและอุปถัมภ์ศาสนาพุทธแบบมหายาน ทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปแบบสรวงสวรรค์ของศาสนาฮินดู แต่ใช้การประดับใบหน้าบุคคลขนาดใหญ่ คือ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร" บริเวณส่วนเรือนยอดของปราสาทแทน ทำให้การใช้นาคปักถูกลดบทบาทลง คติการใช้นาคปัก สันนิษฐานว่า มาจากตำนานพื้นเมืองเขมรเกี่ยวกับปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรที่มาจากดินแดนอื่นได้เสกสมรสกับธิดานางนาค และปกครองอาณาจักรเขมร อีกทั้ง การใช้นาคปักประดับมุมประธาน ทำให้ยอดปราสาทมีลักษณะทรงพุ่มเป็นยุคแรก ๆ ของปราสาทในวัฒนธรรมเขมร สอบเป็นยอดแหลม ดูรูปทรงอ่อนช้อย และงดงาม ไม่ดูแข็งเป็นมุมเหมือนใช้ปราสาทจำลอง
นาคปักของปราสาทสด๊กก๊อกธมทำจากหินทราย มีลักษณะเป็นพญานาค ๕ เศียรอยู่ภายใน กรอบสามเหลี่ยม ตัวกรอบประดับตกแต่งด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา โดยประดับอยู่บริเวณมุมประธานของชั้นวิมาน บนยอดของปราสาท ยอดของปราสาทสด๊กก๊อกธมจัดเป็นปราสาททรงพุ่มยุคแรกของปราสาทในวัฒนธรรมเขมร
อ้างอิง
- ราฆพ บัญฑิตย์, ปราสาทสด๊อกก๊อกธม : ปราสาทเขมรทรงพุ่มรุ่นแรกในประเทศไทย (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัญฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร)
- สรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล, การกลายรูปจากอาคารจำลอง-นาคปัก-บรรพแถลงของปราสาทในศิลปะขอมมาเป็นกลีบขนุนของปรางค์ในศิลปะไทย (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัญฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
- กรมศิลปากร. (๒๕๖๕). ปราสาทสด๊กก๊อกธม: อุทยานประวัติศาสตร์ ณ ชายแดนตะวันออก. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.
-อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (๒๕๖๒). ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.

(จำนวนผู้เข้าชม 4684 ครั้ง)

Messenger