...

โบราณสถานวัดตระพังช้างเผือก
โบราณสถานวัดตระพังช้างเผือก
.
 โบราณสถานวัดตระพังช้างเผือก ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันตก ที่เรียกกันว่า “เขตอรัญญิก” อยู่ห่างจากประตูอ้อ (ประตูเมืองด้านทิศตะวันตก) ประมาณ ๑,๖๕๐ เมตร
.
โบราณสถานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในวัดประกอบด้วย มณฑป ลักษณะเป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ ๑๓.๑๐ เมตร ฐานสูงก่อด้วยศิลาแลงและมีบางส่วนเสริมด้วยอิฐ ผนังก่อด้วยศิลาแลงเป็นผนังเตี้ยๆ มีการบากเป็นร่องตลอดแนวด้านบน สันนิษฐานว่าเพื่อรองรับผนังไม้ ภายในอาคารมีเสาศิลาแลงทรงกลมขนาดใหญ่จำนวน ๒๐ ต้น สำหรับรองรับโครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา พื้นภายในปูด้วยอิฐฉาบปูน บริเวณตอนกลางของมณฑปมีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ ๕ เมตร  โดยรอบฐานด้านนอกมณฑปมีการก่อศิลาแลงเป็นกรอบภายในบดอัดดินเพื่อยกระดับพื้นใช้งานทำเป็นลานประทักษิณ
.
วิหาร ตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของมณฑป ลักษณะเป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๗.๐๐ เมตร ยาว ๑๑.๐๐ เมตร ฐานก่อด้วยอิฐ สันนิษฐานว่าเป็นวิหารโถง ภายในและภายนอกอาคารมีเสาศิลาแลงรองรับโครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา พื้นภายในปูด้วยอิฐฉาบปูน มีอาสน์สงฆ์ก่ออิฐอยู่บริเวณด้านทิศใต้ อาคารหลังนี้เดิมเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขหน้า-หลัง ต่อมามีการก่อฐานเพิ่มเติมปิดส่วนมุขเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางด้านทิศใต้ของวิหารมีฐานเจดีย์รายจำนวน ๔ องค์
.
ด้านทิศตะวันออกของวัดมีสระน้ำขนาดใหญ่ มีบ่อน้ำทรงกลมก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสระ  
.
บริเวณบ่อน้ำพบการก่ออิฐเป็นแนวเตี้ยๆ คล้ายทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบบ่อ แต่เหลือเฉพาะแนวทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก ภายในกรอบปูด้วยหินชนวนเป็นพื้นรอบบ่อ และพบรางระบายน้ำทำจากหินชนวนและศิลาแลงฝังไว้ใต้ดินสำหรับระบายน้ำมายังสระน้ำ
.
ประวัติการศึกษาและดำเนินงานที่ผ่านมา
.
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัยและกล่าวถึงวัดตระพังช้างเผือกในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงว่า
“...ออกจากวัดสะพานหินย้อนทางกลับไปดูวัดตระพังช้างเผือกซึ่งอยู่ริมทางที่เดินไปเขาพระบาทน้อย วัดนี้ตั้งอยู่ข้างบึงหรือสระอันหนึ่งซึ่งมีนามว่าตระพังช้างเผือกในวัดนี้มีอุโบสถย่อมๆ อยู่หลังหนึ่ง แต่เสาเป็นแลงมีบัวปลายเสา ทำฝีมือพอดูได้หลังอุโบสถออกไปทางตะวันตกมีเป็นฐานยกสูงพ้นดิน ฐานเป็นสองชั้น มีเสาแลงสี่มุมทั้งสองชั้น รวมเป็น ๘ เสาด้วยกัน ท่าทางชะรอยจะเป็นบุษบกโถงๆ ประดิษฐานพระปรางค์หรือพระพุทธรูป ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีพระเจดีย์เล็กๆ องค์หนึ่ง กับมีเป็นกองๆอยู่อีก ซึ่งอาจเป็นเจดีย์แต่ทลายเสียหมดแล้ว ในเขตวัดนี้ได้พบศิลาจารึกแผ่นหนึ่งนอนทิ้งอยู่ในรก ยอดเป็นรูปมน ที่ฐานมีเป็นเดือยต่อลงไปสำหรับปัก แต่ไม่ปรากฏว่าได้เคยปักอยู่ตรงไหน วัดศิลานั้นดูได้ความว่า สูงแต่เดือยถึงยอด ๒ ศอกคืบเศษ กว้าง ๑ ศอก หนาประมาณ ๙ นิ้ว ส่วนเดือยนั้นยาวประมาณคืบกับ ๖ นิ้ว ศิลานี้ชำรุดแตกและตัวอักษรลบเลือนเสียมาก ได้จัดการให้ยกไปยังที่พักชำระล้างพอสะอาดแล้วตรวจดูอีกทีหนึ่งอักษรจารึกมีทั้ง ๒ หน้า เป็นอักษรขอมหน้าหนึ่ง อักษรไทยโบราณหน้าหนึ่ง ทางด้านอักษรขอมเป็นด้านที่จมอยู่ในดิน ตัวอักษรจึงไม่ใคร่จะลบเลือนยังอ่านได้ แต่ตัวอักษรขอมมีตัวที่แปลกๆ นัยน์ตาอยู่มาก จึงได้คัดตามตัวส่งเข้ามาถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรสเพื่อทรงอ่าน... ”
.
จารึกที่ถูกกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงนั้น ต่อมาได้พบว่าถูกเคลื่อนย้ายมายังเขาไกรลาส สวนซ้ายในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรเข้าทำการสำรวจและทำสำเนาจารึก ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้นำมาเปรียบเทียบข้อความที่อ่านไว้บ้างเล็กน้อยในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง ทำให้ทราบว่าจารึกหลักนี้คือจารึกป้านางคำเยียที่พบจากวัดตระพังช้างเผือก
.
ศิลาจารึกป้านางคำเยีย ทำจากหินชนวน รูปทรงเป็นแผ่นใบเสมา จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย-ขอมสุโขทัย ภาษาไทย-บาลี มี ๒ ด้าน ด้านที่ ๑ เป็นจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย มีเนื้อหาใจความกล่าวถึง ป้านางคำเยียมีจิตศรัทธาได้ขอซ่อมแซมวัดแห่งนี้เมื่อมหาศักราช ๑๓๐๑ หรือ จุลศักราช ๗๔๑ ตรงกับพุทธศักราช ๑๙๒๒ ซึ่งในจารึกกล่าวว่าเดิมวัดแห่งนี้สร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) แต่สิ่งก่อสร้างภายในวัดได้ชำรุดหักพังลง ป้านางคำเยียจึงได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหาร สร้างสถูป เจดีย์ และพระพุทธรูปถวายเป็นพุทธบูชา รวมถึงได้บำเพ็ญกุศลต่างๆ และส่วนด้านที่ ๒ นั้น เป็นจารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี มีเนื้อหากล่าวพรรณนาถึงลายลักษณ์ที่ปรากฏในพระบาททั้งสองแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญทำให้เห็นถึงลักษณะ ลวดลายต่างๆ และคติความเชื่อในการสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดี
.
ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้ดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี พบว่าวัดตระพังช้างเผือกมีการก่อสร้าง ๒ สมัยหรือ ๒ ช่วงเวลา สอดคล้องกันกับข้อความในจารึกป้านางคำเยียที่กล่าวว่าวัดนี้สร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) แต่สิ่งก่อสร้างได้ชำรุดหักพังลงป้านางคำเยียจึงได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ และหากพิจารณานำเอารูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีการสร้างมณฑปเป็นประธานของวัดดังเช่นที่วัดตระพังช้างเผือกนั้น พบว่ามีการสร้างมณฑปรูปแบบใกล้เคียงกันนี้ โดยนิยมสร้างเป็นอย่างมากในช่วงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เป็นต้นมา ดังเช่นที่วัดศรีโทล และหอเทวาลัยมหาเกษตร ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีหลักฐานจารึกระบุช่วงเวลาอยู่ในระยะเวลาเดียวกันกับวัดตระพังช้างเผือก
ทำให้เชื่อได้ว่าวัดตระพังช้างเผือกคงสร้างขึ้นในช่วงสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ใช้งานต่อเนื่องมาจนชำรุดหักพังลงจนถึงปี พ.ศ.๑๙๒๒ ป้านางคำเยียจึงได้ขอทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ หลังจากนั้นจึงถูกทิ้งร้างไปในที่สุด
.
และในปี พ.ศ.๒๕๖๔ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้ดำเนินการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดตระพังช้างเผือก ซึ่งเป็นวัดหนึ่งในโครงการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์กลุ่มโบราณสถานด้านทิศตะวันตก อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย โดยได้ดำเนินการบูรณะและปรับภูมิทัศน์กลุ่มโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก นอกเมืองด้านทิศตะวันตก จำนวน ๕ วัด ประกอบด้วย วัดจรเข้ร้อง วัดตระพังกระดาน วัดป่ามะม่วงตะวันตก วัดตระพังช้างเผือก และโบราณสถานร้าง ต.ต.๒๖/๑  เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับโบราณสถาน และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสืบต่อไป
.
เอกสารอ้างอิง
.
๑. กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระราชสมภพ ครบ ๒๐๐ ปี มอบให้กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๕๔๘. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๘. (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://digital.nlt.go.th/items/show/18858)
๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  เที่ยวเมืองพระร่วง.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๑. (อ่านเพิ่มเติมที่ได้ที่ https://www.finearts.go.th/.../DmXieNBoCKqhdshKUSb2bPYISK...)
๓. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกป้านางคำเยีย. เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๕. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/92
๔. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟีเจอร์วัน. โครงการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์กลุ่มโบราณสถานด้านทิศตะวันตก อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ปีงบประมาณ ๒๕๖๔. (เอกสารอัดสำเนา) (ดาวน์โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/.../1U4buY4Y5Pij4.../view...)
๕. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช ๒๕๖๑. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : พระรามครีเอชั่น, ๒๕๖๑.
๖. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย ปีงบประมาณ ๒๕๖๑. (เอกสารอัดสำเนา) (ดาวน์โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://drive.google.com/.../1EoIqbl9qQ8z4ieqBF.../view...)
๗. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. รายงานทางโบราณคดีโครงการขุดแต่งทางโบราณคดีเพื่อออกแบบบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดตระพังช้างเผือกและวัดป่าขวาง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ปีงบประมาณ ๒๕๖๑. (เอกสารอัดสำเนา) (ดาวน์โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://drive.google.com/.../1ail4btwrY5N.../view...)
#โบราณสถาน #วัดตระพังช้างเผือก #อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย #สุโขทัย



























(จำนวนผู้เข้าชม 1547 ครั้ง)


Messenger