...

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนสุปัฏน์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ตามประวัติระบุว่าเริ่มสร้างในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ โดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยมอบหมายให้พระพรหมราชวงศา (กุทอง สุวรรณกูฎ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ ๓ เป็นประธานเลือกพื้นที่ตั้งวัดให้เป็นที่จำพรรษาของพระพนฺธุโล (ดี) นับเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในอีสาน และโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวัดว่า “สุปัฏนาราม” ในความหมายว่า วัดที่มีท่าน้ำหรือท่าเรือที่ดี สะดวกในการขึ้นลง ทั้งนี้ท่าเรือวัดสุปัฏนารามวรวิหารตั้งอยู่ทางทิศใต้ซึ่งเป็นด้านหน้าวัด
. อุโบสถ (สิม) วัดสุปัฏนารามวรวิหาร สร้างในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๗๙ สมัยสมเด็จพระมหาวีร-วงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี เจ้าอาวาสลำดับที่ ๗ ออกแบบโดยหลวงสถิตถ์นิมานการ (ชวน สุปิยพันธ์) เพื่อทดแทนอุโบสถ (สิม) หลังเก่าที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศใต้ ตัวอาคารตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว มีขนาด ๙ ห้อง โดย ๒ ห้องด้านหน้าและ ๒ ห้องด้านหลังเป็นโถง โครงสร้างอาคารใช้เสาก่ออิฐสี่เหลี่ยมและผนังรองรับน้ำหนักหลังคาจั่วที่ต่อหลังคาปีกนกด้านข้างรับด้วยเสาก่ออิฐ ประดับหัวเสาด้วยบัวแวง ระหว่างเสาก่ออิฐเป็นวงโค้งหยักปลายแบบกรอบหน้านาง ประดับดาวเพดานทั้งภายในและภายนอก มีประตูรอบตัวอาคาร เหนือประตูเป็นช่องลมที่แต่งปูนปั้นรูปธรรมจักรและอุณาโลม มีบันไดทางขึ้นบริเวณระเบียงด้านหน้าและด้านหลัง รวม ๔ ทาง เชิงบันไดประดับสิงโตหมอบปูนปั้น หน้าจั่วเรียบเต็มเสมอเสาด้านหน้า ตกแต่งหน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยลายปูนปั้นรูปเจดีย์ทรงระฆัง ล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาแบบลายไทย ประดับช่อฟ้า (โหง่) แบบหัวนาค ใบระกาแบบลำตัวนาค หางหงส์เป็นหัวนาคเช่นกัน ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานสำริดนาม “พระสัพพัญญูเจ้า” จำลองจากพระพุทธชินราช ประทับนั่งบนฐานแอ่นโค้งขาสิงห์
. กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๓ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ แต่ยังไม่ได้ประกาศแนวเขตพื้นที่ดินโบราณสถาน โดยมีสิ่งสำคัญ คือ อุโบสถ (สิม) วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร
------------------------------------------
++อ้างอิงจาก++
. กองพุทธศาสนสถาน, กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๔. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,
๒๕๓๘. หน้า ๓๗๑
. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์
และภูมิปัญญาจังหวัดอุบลราชธานี. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, ๒๕๔๔.หน้า ๑๒๗
. สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
(เล่ม ๑ : จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร จังหวัดมุกดาหาร). อุบลราชธานี : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์, ๒๕๖๓.
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

(จำนวนผู้เข้าชม 4176 ครั้ง)


Messenger