เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
“ทวีปัญญาสโมสร” สโมสรแรกในราชสำนักรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดตั้งทวีปัญญาสโมสร ขึ้น ณ พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งเป็นสโมสรแรกในราชสำนักเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามัคคี เพิ่มพูนความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการประพันธ์และการละครอีกด้วย โดยมีสมาชิกเป็นพระราชวงศ์ ข้าราชบริพาร และบุคคลภายนอก ที่ได้รับการรับรองจากกรรมการสภา ซึ่งกรรมการสภาในการดำเนินงานของทวีปัญญาสโมสรชุดแรกนั้น ประกอบด้วย สภานายกและเลขานุการดำรงตำแหน่งโดย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ปฏิคมและบรรณารักษ์ดำรงตำแหน่งโดย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา ผู้ช่วยปฏิคมคือ ม.จ.ถูกถวิล ผู้ช่วยบรรณารักษ์คือ ม.จ.พงษ์พิณเทพ เหรัญญิกคือ นายหยวก ผู้ช่วยเลขานุการคือ นายสอาด ที่ปรึกษาคือ พระยาราชวัลภานุสิษฐ กรรมการพิเศษประกอบด้วย ม.จ.วงษ์นิรชร และ ม.จ.อิทธิเทพสรร สำหรับตำแหน่งพนักงานใหญ่แผนกปฏิคมคือ นายชุ่ม ภายหลังมีการเพิ่มตำแหน่งกรรมการอีก ๒ ตำแหน่ง ได้แก่ อุปนายก และสาราณียกร
ในส่วนของสมาชิกเข้าใหม่ของทวีปัญญาสโมสรนั้น ต้องเสียเงินค่าสมัคร ๕ บาท และเสียเงิน ค่าบำรุงสโมสรปีละ ๓๖ บาท โดยเก็บทุกครึ่งปี หรือจะเสียค่าบำรุงสโมสรครั้งเดียว ๔๐๐ บาทก็ได้ เมื่อสมาชิกได้ลงนามและเสียค่าบำรุงสโมสรแล้ว จะได้รับโปเจียม คือ เข็มติดอกเสื้อทำด้วยผ้า จากกรรมการ ๑ อัน เพื่อติดมาในวันที่มีการประชุมซึ่งมีทั้งการประชุมสมาชิกทั่วไป และการประชุมใหญ่กับกรรมการสภาตามที่สภานายกเห็นสมควร หากไม่ติดมาจะถูกบันทึกนามไว้ในห้องสมุด ถ้าเกิน ๓ ครั้งจะถูกปรับ ๓๒ อัฐ สำหรับที่ทำการสโมสรนั้น เดิมตั้งอยู่ในพระราชวังสราญรมย์ ภายหลังเริ่มคับแคบจึงได้ย้ายมาตั้งที่ทำการใหม่ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนกระจก เปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๒๒.๐๐ น. ภายในมีห้องสมุดและมีหนังสือพิมพ์ ที่ออกในเมืองไทยและเมืองนอกบางฉบับให้สมาชิกได้อ่าน อีกทั้งยังมีโรงละครขนาด ๑๐๐ ที่นั่ง ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ ริมถนนราชินีอีกด้วย ชื่อว่า โรงละครทวีปัญญา นอกจากนี้ภายในทวีปัญญาสโมสรยังมีการเล่นกีฬาในร่ม อาทิ บิลเลียด ปิงปอง หมากรุก และไพ่ฝรั่ง รวมทั้งมีเครื่องกีฬากลางแจ้ง ไว้ให้เล่นด้วย เช่น เทนนิส คริกเก้ต โครเก้ ฮ้อกกี้ ฯลฯ อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่จัดงานรื่นเริงในโอกาส ต่าง ๆ ที่สำคัญยังใช้เป็นสถานที่ออกหนังสือพิมพ์รายเดือน ซึ่งทรงพระราชทานชื่อว่า ทวีปัญญา ภายหลังด้วยพระราชภาระที่มากขึ้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการของทวีปัญญาสโมสรจึงสิ้นสุดลงโดยปริยายในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐
สำหรับเรือนกระจกซึ่งเคยเป็นที่ทำการของทวีปัญญาสโมสรได้ถูกปรับเปลี่ยนใช้สอยเปลี่ยนมือเรื่อยมาและยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน
-------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียง : นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
-------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
วรชาติ มีชูบท. จดหมายเหตุวชิราวุธ ตอนที่ ๑๒๙ สโมสร สมาคม และชมรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๔, จาก: http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal129.htm. ๒๕๕๗. วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑. สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑ (ก-ม). กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, ๒๕๒๓. สุนทรพิพิธ, พระยา. พระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, ๒๕๑๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 3112 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน