เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เทคโนโลยีการประปาในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงสนพระทัยต่อเทคโนโลยีและศิลปวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่รับอิทธิพลมาจากชาวต่างชาติที่เข้ามาในช่วงเวลานั้น เทคโนโลยีที่น่าสนใจอีกประการในสมัยนั้น คือ ระบบประปา โดยมีหลักฐานว่าระบบการส่งน้ำประปาที่ทันสมัยเกิดจากที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้วิศวกรชาวฝรั่งเศส เปอร์เซีย และอิตาลี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำ มีการวางท่อประปาที่ใช้ท่อดินเผาซึ่งมีลักษณะเป็นท่อวงกลมทรงกระบอก ปลายด้านหนึ่งมีขนาดที่เล็กกว่าปลายอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สวมกันเป็นท่อยาวในการลำเลียงน้ำเข้ามาใช้ในพระราชวังหรือสถานที่สำคัญ ดังเช่นหลักฐานที่พบในพระราชวังทั้งในเมืองละโว้และกรุงศรีอยุธยา
โดยเมืองละโว้ หรือลพบุรี พบหลักฐานว่ามีการนำน้ำใช้ในพระราชวังจาก 2 แหล่ง คือ - น้ำจากทะเลชุบศร นำเข้ามาโดยใช้วิธีการต่อท่อผ่านประตูน้ำปากจั่นไหลลงมาสระแก้ว (อยู่ในบริเวณสวนสัตว์ลพบุรี) และต่อมายังอ่างแก้ว จากนั้นมีการวางท่อต่อตรงเข้าสู่เมืองลพบุรี - น้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็นน้ำสะอาดเกิดจากแรงธรรมชาติไหลลงมาจากซอกเขาที่อยู่ในระดับสูงน้ำไหลแรงเข้ามาใช้ในเมือง เนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกลจึงมีการดำเนินการเป็นสองช่วง ช่วงแรกทำเป็นลำรางชักบังคับน้ำจากลำห้วยซับเหล็กยาวทอดจนมาถึงบริเวณท่าศาลา ช่วงที่สองตั้งแต่ท่าศาลาจนถึงตัวเมืองลพบุรี โดยวิธีการฝังท่อดินเผาลงดิน ระหว่างเส้นทางแนวท่อน้ำเข้าสู่เมืองลพบุรี มีการสร้างท่อ (ปล่อง) ระบายความดันของน้ำไว้เป็นระยะๆ
ระบบประปาเมืองลพบุรีใช้หลักการถ่ายเทน้ำจากที่สูงสู่ที่ต่ำ จากหลักฐานอ่างเก็บน้ำและแนวท่อน้ำพบว่ามีลักษณะสัมพันธ์กับแนวกำแพงและกลุ่มอาคารพระที่นั่งต่างๆ โดยเฉพาะตึกที่ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงต้อนรับทูตต่างประเทศในช่วงเวลานั้น
ส่วนกรุงศรีอยุธยาพบมีการกล่าวถึงระบบประปาในพระราชพงศาวดารว่า มีระหัดสำหรับวิดน้ำตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระราชวังริมแม่น้ำลพบุรี จากการขุดแต่งพระราชวังโบราณเมื่อ พ.ศ. 2527 พบแนวท่อน้ำประปาดินเผาจากบริเวณเป็นที่ตั้งของระหัดน้ำ วางทะลุกำแพงเข้ามาในเขตพระราชฐาน โดยระบบประปาใช้หลักการ คือ การยกระดับน้ำขึ้นมาเก็บไว้ยังถังน้ำประปาในที่สูงเพื่อการแจกจ่ายตามท่อน้ำประปาดินเผาไปใช้ในที่ต่างๆ และจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพระราชวังโบราณเมื่อ พ.ศ. 2560 พบร่องรอยของระบบประปา บริเวณทางทิศเหนือของพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ โดยพบเป็นแนวท่อประปาดินเผา 2 แนว สันนิษฐานว่าแนวหนึ่งใช้สำหรับนำน้ำเข้ามาใช้และอีกแนวใช้สำหรับปล่อยน้ำทิ้งเนื่องจากพบร่องรอยที่สันนิษฐานว่าเป็นปล่องระบายความดัน นอกจากนี้บนท่อประปาบางชิ้นยังพบจารึกอักษรไทย ภาษาไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย อ่านได้เบื้องต้นความว่า “หามรุก” และ “ยกามํเสั้ายม” จากภาพรวมของหลักฐานสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า ท่อประปาคงทำขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช /
---------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาววีณา บุญเชิญ ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
---------------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 5081 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน