ความเป็นมาของตราประจำจังหวัดจันทบุรี
          ด้วยว่าใน พ.ศ.2483 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ปรารภว่า การที่ จะให้ประเทศชาติรุ่งเรืองแข็งแรงนั้นจำเป็นต้องสร้างความเจริญเป็นปึกแผ่นให้แก่ชนบทโดยทั่วๆไป และการที่ชนบทจะเจริญเป็นปึกแผ่นได้ก็ต้องอาศัยการที่ชาวชนบทมีนิสัยรักถิ่นฐาน ไม่ใฝ่ฝันที่จะย้ายภูมิลำเนาเดิมเข้ามาอยู่ในพระนคร เพื่อให้ได้ผลดังที่ว่านี้มีสิ่งซึ่งจะต้องทำหลายอย่าง เกี่ยวกับการบำรุงและชักจูงคนให้ชอบชีวิตชนบท ภูมิใจในความเป็นชาวชนบท และรักชนบทที่เป็นถิ่นฐานของตน...
          ซึ่งเรื่องแรกที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรทำได้คือคิดให้มีเครื่องหมายประจำจังหวัดเหมือนอย่างที่มีอยู่แล้วในนานาประเทศที่เจริญ
โดยมีเหตุผลว่า... เครื่องหมายประจำจังหวัดนี้เมื่อมีขึ้นแล้วก็อาจใช้เป็นประโยชน์ได้หลายทาง เช่น ติดตั้งในสถานที่สำคัญ ทำเป็นธงประจำจังหวัด เป็นเครื่องอาภรณ์สำหรับชาวจังหวัด และเป็นเครื่องหมายสินค้าอุตสาหกรรมของจังหวัด ดังนี้เป็นต้น...
          ในเวลาต่อมารัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการประสานคณะกรมการแต่ละจังหวัดต่อไป กรมศิลปากรได้มีข้อแนะนำประกอบในการพิจารณาเครื่องหมายประจำแต่ละจังหวัดว่า 1. เป็นเครื่องหมายประจำตระกูลของเจ้านครซึ่งใช้มาแต่โบราณกาล และพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาลส่วนกลางได้อนุมัติให้ใช้ต่อไป 2. เป็นรูปปราสาทหรือโบราณสถานที่สำคัญยิ่งในจังหวัดนั้น 3. เป็นรูปเกี่ยวกับเทพนิยายพื้นเมืองของจังหวัดนั้นซึ่งแม้จะรู้กันว่าไม่ใช่เรื่องจริงแต่ก็อยู่ในความนิยมของคนในจังหวัดนั้น 4. รูปธรรมชาติที่เด่นที่สุดในจังหวัดนั้น
          ซึ่งกรมศิลปากร จะพยายามพิจารณาทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นการประกอบ แต่ที่สำคัญคือ ... "เมื่อทำขึ้นมาแล้วชาวจังหวัดโดยทั่วไปหรือส่วนมากจะพอใจใช้ "
          ในส่วนของจังหวัดจันทบุรี ได้เสนอ 2 อย่างคือ อย่างที่ 1 เครื่องหมายรูปกระต่ายในวงจันทร์ตามแบบธงประจำกองลูกเสือมณฑลจันทบุรี ซึ่งได้ความว่าเป็นเครื่องหมายนามของมณฑล เช่นเดียวกับมณฑลอื่นๆที่พระราชทานธงไปในคราวเดียวกันและบัดนี้น่าจะถือว่าเป็นเครื่องหมายของจังหวัดจันทบุรีต่อไปดั่งได้เคยทำเป็นโล่ห์ประจำเรือรบหลวงจันทบุรีแล้ว อย่างที่ 2 เครื่องหมายรูปเรือสุพรรณหงส์หมายความถึงเรือที่พระเจ้าตากสินให้ช่างต่อที่จังหวัดจันทบุรีพร้อมด้วยบรรดาเรือรบต่างๆซึ่งสะสมต่อในคราวนั้นแล้วใช้เป็นราชพาหนะเดินทางเข้ามากู้อิสรภาพที่จังหวัดพระนครธนบุรี
           กรมศิลปากรเห็นชอบตามอย่างที่ 1 และได้เสนอเพิ่มว่า
           "รูปกระต่ายไม่ควรจะเด่นเกินไปอย่างตราของเทศบาล ควรเขียนให้รูปพระจันทร์เด่น กระต่ายให้เล็กและให้แลเห็นเพียงลางๆเท่านั้นจะดี" จวบจนบัดนี้เป็นเวลา 81 ปี จังหวัดจันทบุรี ก็ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์กระต่ายในดวงจันทร์ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ทราบถึงที่มาของเครื่องหมาย ก็อาจตีความไปว่าเมืองจันทบุรี คือเมืองกระต่ายที่หมายจันทร์ จึงทำสัญลักษณ์เป็นตัวกระต่ายลักษณะต่างๆ เพียงอย่างเดียว



---------------------------------------------------------
ผู้เขียน นางสุมลฑริกาญจน์ มายะรังสี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
---------------------------------------------------------
อ้างอิง เอกสารจดหมายเหตุลายลักษณ์.ศธ 0701.42.2/2 เรื่อง เสนอเครื่องหมายประจำจังหวัด.พ.ศ.2483.

(จำนวนผู้เข้าชม 6884 ครั้ง)

Messenger