เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
กรมศิลปากรและจังหวัดสุพรรณบุรี เตรียมเปิดอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี ๑๙ ส.ค.นี้
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรและจังหวัดสุพรรณบุรี เตรียม เปิดให้บริการอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงประติมากรรมสำริดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี โดยกำหนดเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรกในวันที่ ๑๙ สิงหาคมนี้
การจัดสร้างอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี จัดสร้างขึ้นตามดำริของ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพสลักหินเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จีน ณ China Millennium Monument เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้านการศึกสงคราม การเมืองการปกครอง การศาสนา และการค้ากับต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ผ่านงานประติมากรรมหล่อโลหะสำริดอันงดงามและมีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย
อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๕๓ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบอาคารและภาพประติมากรรม มีผังการจัดแสดงเป็นรูปวงรี ภายในจัดแสดงประติมากรรมสำริดนูนสูงและนูนต่ำ มีความกว้าง ๔.๒๐ เมตร ความยาว ๘๘ เมตร แบ่งออกเป็น ๙ ตอน ประกอบด้วย
ตอนที่ ๑ สุพรรณบุรี : ชุมชนแรกเริ่ม แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ พิธีกรรม ความเชื่อ การตั้งถิ่น ฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สังคมเกษตรกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อราว ๔,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และภาพโบราณวัตถุสำคัญจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เช่น ภาชนะมีนม ภาชนะมีเขา ภาชนะสามขา
ตอนที่ ๒ สุพรรณบุรี : อู่ทอง...เครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค แสดงถึงการติดต่อค้าขายระหว่างผู้คน ในเมืองโบราณอู่ทองกับพ่อค้าจากชุมชนใกล้เคียงและพ่อค้าชาวต่างชาติ ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวอาหรับ และชาวจีน เมืองโบราณอู่ทองเป็นหนึ่งในชุมทางการค้าสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองและลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญในดินแดนสุวรรณภูมิ
ตอนที่ ๓ สุพรรณบุรีในวัฒนธรรมศาสนา : อู่ทองเมืองศูนย์กลางศาสนารุ่นแรก แสดงถึงการรับวัฒนธรรมศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เรียกว่า“วัฒนธรรมทวารวดี” ด้วยความเคารพและศรัทธาในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของผู้คนในเมืองโบราณอู่ทองจึงได้มีการสร้างศาสนสถานและรูปเคารพทางศาสนา อันได้แก่ ธรรมจักรและศิวลึงค์
ตอนที่ ๔ สุพรรณบุรี : เนินทางพระ...ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน แสดงให้เห็นถึงการเดินทาง มายังปราสาทเนินทางพระ ซึ่งเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธแบบมหายาน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอมสมัยบายน เพื่อทำการสักการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในศาสนาพุทธแบบมหายาน
ตอนที่ ๕ สุพรรณบุรี : ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา แสดงเรื่องราวของขุนหลวงพะงั่วเจ้าเมือง สุพรรณภูมิทรงนำกองทัพออกสู้ศึกกับอาณาจักรขอมจนได้รับชัยชนะ และแสดงภาพเจดีย์วัดไก่เตี้ย ซึ่งเป็นเจดีย์ก่ออิฐทรงแปดเหลี่ยมอันเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของเจดีย์สมัยก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และภาพแหล่งเตาบ้านบางปูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี
ตอนที่ ๖ สุพรรณบุรี : เมืองลูกหลวงของราชธานีศรีอยุธยา แสดงเหตุการณ์การเสด็จขึ้นครอง ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และการติดต่อค้าขายกับเมืองจีนที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)
ตอนที่ ๗ สุพรรณบุรี : สมรภูมิยุทธหัตถี แสดงเหตุการณ์การกระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระ นเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ณ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ตอนที่ ๘ สุพรรณบุรี : หัวเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี และพระบรมรูปของสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินสักการะบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี พร้อมด้วยคณะเสือป่ารักษาพระองค์
ตอนที่ ๙ ปัจจุบัน...สุพรรณบุรี แสดงเหตุการณ์การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางพวงมาลาในรัฐพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงนำพสกนิกรเกี่ยวข้าวที่แปลงนาสาธิต และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธียกพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระมณฑปและสมโภชรอยพระพุทธบาท ณ วัดเขาดีสลัก อำเภออู่ทอง
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า นอกจากผู้เข้าชมจะได้รับชมความงดงามของประติมากรรมสำริดแล้ว ยังได้รับความรู้และความเพลิดเพลินผ่านระบบการบรรยายนำชมที่ทันสมัยทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และอุปกรณ์ Audio guide ที่มีให้เลือกถึง ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยใช้เทคโนโลยีแสง เสียงประกอบการจัดแสดง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์สูงสุดในการเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดสุพรรณบุรี
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี โทรศัพท์ ๐ ๓๕๕๓ ๕๓๓๐ ในวันและเวลาราชการ
(จำนวนผู้เข้าชม 1170 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน