หอแจก (ศาลาการเปรียญ) วัดราษฎร์ประดิษฐ์
หอแจก (ศาลาการเปรียญ) วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ตั้งอยู่บ้านกระเดียน ตำบลกระเดียน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกหนึ่งหลังในวัดราษฎร์ประดิษฐ์ หากแต่มีความแตกต่างกับกุฏิ คือ ตัวอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ส่วนโครงสร้างหลังคาจึงใช้ไม้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง
คำว่า หอแจก มีความหมายคือ เป็นสถานที่ซึ่งใช้แจกจ่ายหรือแผยแผ่คำสอนทางพุทธศาสนา องค์ประกอบที่สำคัญของหอแจก คือ ธรรมาสน์ อันหมายถึงที่นั่งหรืออาสนะหรือแท่นของพระภิกษุสามเณรสำหรับแสดงธรรม
หอแจก วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2468 เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะญวน เนื่องด้วยมีช่างชาวญวนร่วมสร้างกับประชาชนชาวบ้านกระเดียน ซึ่งสถาปัตยกรรมในโซนอีสานจะพบว่ามีร่องรอยศิลปะทั้งจีนและยุโรปปะปนอยู่ในงานศิลปะ ซึ่งในทัศนะส่วนตัวขอใช้คำว่า ศิลปะอีสานที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะญวนนะคะ ด้วยศิลปะดังกล่าวส่วนหนึ่งถูกสร้างหรือนำเข้าจากช่างชาวญวนที่อพยพย้ายถิ่นมาจากประเทศเวียตนามในปัจจุบันหรือที่รู้จักกันในชื่อคนญวน ด้วยชาวไทยอีสานมีความชำนาญในงานไม้มากกว่างานปูน ในส่วนของการปั้นแอวขันหรืองานปูนส่วนหนึ่งจึงได้ว่าจ้างช่างญวนก่อสร้าง ทำให้เราพบเห็นประติมากรรมในศาสนสถานหลายแห่งที่มีความแตกต่างจากศิลปะไทยภาคกลาง เช่น การปั้นตัวนาก (กินปลา) บริเวณหน้าสิมหรืออุโบสถแทนการปั้นพญานาค (ความจริงชาวบ้านต้องการพญานาค แต่ช่างไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพญานาคจึงได้ปั้นตัวนากขึ้นแทน เป็นต้น) โดยการก่อสร้างนั้นประชาชนชาวบ้านกระเดียนได้ร่วมแรงกันเผาอิฐที่ได้จากดินหนองคันไส (อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน)
หอแจก วัดราษฎร์ประดิษฐ์ เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะเป็นอาคารทรงจั่ว มีหลังคาหลุมหรือปีกนกทั้งสี่ด้าน โดยด้านหน้า(ทิศตะวันตก) และด้านหลัง (ทิศตะวันออก) มีการทำมุขลดหรืออาคารลดชั้นด้านละหนึ่งชั้น ลักษณะมุขลดเป็นหลังคาทรงจั่วเช่นเดียวกัน เป็นห้องโปร่ง มีเสาหน้าสองต้นและเสาหลังสองต้น โครงหลังคาหอแจกก่อสร้างจากไม้ มุงด้วยแป้นเกล็ด ประดับ โหง (ช่อฟ้าด้านหน้า) ใบระกา หางหงส์ และประดับช่อฟ้าที่บริเวณกลางสันหลังคา ตัวอาคารหอแจกผนังทึบทั้งสี่ด้าน ผนังด้านสกัดหรือด้านกว้าง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีบันไดอยู่ตรงกลาง ผนังด้านข้างแต่ละด้านมีการเจาะช่องเป็นหน้าต่างเป็นรูปวงโค้งครึ่งวงกลมจำนวน 2 ช่อง และเจาะช่องแสงเป็นทรงกลมประดับกรงซี่รูปดอกไม้ที่ผนังช่องสุดท้ายซึ่งติดกับมุมอาคาร ส่วนผนังด้านแปหรือด้านยาวหรือด้านข้าง แบ่งผนังออกเป็น 7 ช่วงเสา ส่วนที่ติดมุมอาคารนั้นเป็นผนังทึบ อีก 5 ช่วง เจาะเป็นหน้าต่างรูปทรงโค้งครึ่งวงกลมเช่นเดียวกัน ลักษณะหน้าต่างของหอแจกมีลักษณะเด่นที่ด้านล่างทำเป็นราวเจาะช่องทรงรีประดับและใช้บานหน้าต่างไม้
บันไดหอแจกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนของราวบันไดมีการปั้นปูนประดับเป็นรูปสัตว์ ด้านหน้า(ทิศตะวันตก) เป็นสัตว์ผสมซึ่งมีกีบเท้า อาจเป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมของม้า ทำให้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็น กิเลน ส่วนราวบันไดด้านหลัง(ทิศตะวันออก) ปั้นปูนเป็นรูปมกรคายนาคซึ่งมีรูปสิงห์อยู่ด้านหน้า
ภายในหอแจก ประดิษฐานธรรมาสน์ ลักษณะเป็นธรรมาสน์ติดแน่นกับตัวโบราณสถาน ส่วนฐานก่ออิฐถือปูน ส่วนเรือนธาตุและส่วนยอดเป็นการแกะสลักจากไม้ โดยส่วนเรือนธาตุแกะสลักเป็นลายเคลือเถาทอดลงทอดจากบนลงล่างเป็นช่องยาวสลับกับช่องไม้ทึบทาสี บริเวณฐานของเรือนประดับด้วยฐานบัวลูกฟักลงรักปิดทอง สำหรับส่วนหลังคาเป็นหลังคาทรงมณฑปซ้อนสองชั้น มีนาคพาดประดับบริเวณสันทั้งสี่ด้านทั้งสองชั้น ส่วนยอดเป็นชั้นบัวหงายซ้อนส่วนบนเป็นกิ่งหลาวหลายกิ่งลักษณะกิ่งตรงกลางสูงกว่ากิ่งโดยรอบคล้ายพุ่มดอกไม้ โดยธรรมาสน์ในหอแจกวัดราษฎร์ประดิษฐ์จะใช้เทศนาในช่วงงานบุญเทศมหาชาติในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ของทุกปี
ผู้เรียบเรียง
นางสาวสิริพัฒน์ บุญใหญ่ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี
--------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี .รายงานการบูรณะโบราณสถานกุฏิไม้วัดราษฎร์ประดิษฐ์ บ้านกระเดียน ตำบลกระเดียน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี,พ.ศ. 2556(จำนวนผู้เข้าชม 1281 ครั้ง)