เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ (F.Hilaire)
หนังสือดรุณศึกษา เป็นตำราเรียนภาษาไทยที่เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญได้แต่งและเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ หลังจากที่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาเพียง ๙ ปี
ฟ.ฮีแลร์ เป็นชาวฝรั่งเศส มีนามเดิมว่า ฟร็องซัวส์ ตูเวอเนต์ (François Touvenet) หรือที่รู้จักกันในนาม ฟ.ฮีแลร์ (F.Hilaire) ซึ่งเป็นศาสนานาม โดย ฟ. ย่อมาจาก Frère ในภาษาฝรั่งเศส หรือ Brother ในภาษาอังกฤษ บัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “เจษฎาจารย์ หรือภราดา”
เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ เป็นนักบวชคณะเซนต์คาเบรียล เดินทางจากประเทศฝรั่งเศสมาประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ พร้อมกับคณะเจษฎาจารย์อีก ๔ ท่าน เพื่อมารับมอบงานด้านการศึกษาจากบาทหลวงกอลมเบต์ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ มีความสนใจด้านภาษาไทยอย่างมาก จึงมุ่งมั่นศึกษาภาษาไทยและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยจากครูหลายท่าน เช่น หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) พระยาวารสิริ (ครูวัน) ครูฟุ้ง เจริญวิทย์ และครูศุข ศุภศิริ เป็นต้น ท่านมีความมานะ สามารถเรียนรู้ได้เร็ว เมื่อมีความรู้ภาษาไทยแตกฉานดีแล้ว จึงเริ่มแต่งหนังสือ “ดรุณศึกษา” ตำราเรียนภาษาไทยที่ใช้ในโรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงเล็งเห็นความตั้งใจและความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจของเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ที่ต้องการจะพัฒนาความรู้แก่นักเรียน จึงทรงรับเป็นผู้ตรวจแก้ไขเนื้อหาให้ถูกต้องตรงตามความที่ปรากฏในพงศาวดารต่าง ๆ เพื่อให้ดรุณศึกษาเป็นหนังสือภาษาไทยแบบใหม่ที่มีความพิเศษและสมบูรณ์ครบถ้วน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ดรุณศึกษาใช้เป็นหนังสือสอนอ่านภาษาไทย เริ่มจากการประสมอักษรกลาง อักษรสูง อักษรต่ำกับสระเสียงยาว สระเสียงสั้น และผันวรรณยุกต์ มีการฝึกอ่านคำที่ประสมแล้วทุกบท สอนตัวเลข สอนเครื่องหมาย เมื่อเด็กอ่านได้แล้ว มีบทอ่าน เป็นนิทานสอนใจ เช่น เรื่อง “กาน้ำแก่” “กระต่ายกับเต่า” “อึ่งอ่าง” “นกเขาเปล้า” “หมาจิ้งจอก” “มดง่าม” “ราชสีห์” “ยายกะตา” ฯลฯ ทุกเรื่องจะสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักเรียนโดยตลอด ในชั้นที่โตขึ้นจะใช้คำประพันธ์ในการสอนโดยแต่งเองบ้าง นำมาจากของเก่าบ้างและมีการนำวรรณคดีมาทำเป็นเรื่องสอนอ่านด้วย เช่น “ชะลอมใส่น้ำ (ขอมดำดิน)” “พระไชยเชษฐ์” “นายขนมต้ม” บทร้อยกรอง “วิชาเหมือนสินค้า” จากเรื่อง ศรีสวัสดิวัด ของหมื่นพรหมสมพัตสร หรือนายมี จากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เช่น “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” “พระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ (พระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราชา) “สมเด็จพระศรีสุริโยทัย” เล่าจากเรื่องจริง เช่น “เรือติตานิก” “เรือกลไฟในกรุงสยาม” “การพิมพ์หนังสือในประเทศไทย” เป็นต้น
หนังสือดรุณศึกษา ผลงานชิ้นเอกของเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ เมื่อแรกพิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ ใช้ชื่อว่า “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” มีทั้งหมด ๓ เล่ม ได้แก่
๑. อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ
๒. อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนกลาง
๓. อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนปลาย
ภายหลังได้เล็งเห็นว่าอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ มีรูปเล่มที่หนาเกินไปสำหรับเด็กเล็ก ดังนั้นในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ จึงแบ่งพิมพ์ออกเป็น อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ และอัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอนต้น ส่วนที่เหลือคงเดิม จึงกล่าวได้ว่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๔ นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญมีแบบเรียน “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ใช้เรียนทั้งหมด ๔ เล่ม จวบจนกระทั่งสิขสิทธิ์ของ “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ได้ตกเป็นของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ในระยะเวลาต่อมาจึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น “ดรุณศึกษา”
หนังสือดรุณศึกษายุคสมัยต่าง ๆ
หนังสือดรุณศึกษา ชุดหนึ่งมี ๕ เล่ม ใช้เป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนภาษาไทยให้สอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับนักเรียนชั้นเตรียมประถม (ปฐมวัย) และชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ – ๔ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในโรงเรียนทั่วไปโดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชนเครือคริสตจักร เพราะเป็นตำราที่เอื้อให้การเรียนการสอนวิชาภาษาไทยเกิดประสิทธิผล นักเรียนสามารถอ่านเขียนได้คล่อง มีคำศัพท์กว้างและรอบรู้ นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบซึ่งช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน มีความกระตือรือร้นในการเรียนและไม่เกิดความเบื่อหน่าย
ตัวอย่างบทอาขยาน
ส่วนหนึ่งจากบทเรียนในหนังสือดรุณศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒
การจัดพิมพ์หนังสือดรุณศึกษาตั้งแต่เริ่มจัดพิมพ์ ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งในส่วนของรูปเล่ม ภาพประกอบบทเรียนและข้อความบางตอน แต่ยังคงรักษาเนื้อหาสาระเดิมตามแนวของเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ไว้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน พร้อมจัดทำเชิงอรรถอธิบายความหมายประกอบคำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียน
ได้เข้าใจสาระความหมายของคำดังกล่าวทั้งในบริบทเดิมและบริบทที่ใช้ในปัจจุบันชัดเจนยิ่งขึ้น
หนังสือดรุณศึกษายังคงใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี นับเป็นมรดกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในด้านการส่งเสริมการเรียนภาษาไทยและสืบทอดความเป็นไทยให้คงอยู่ตามเจตนารมย์ของเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ผู้ประพันธ์ตราบจนปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย นางสาวนันทพร บรรลือสินธุ์
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มแปลและเรียบเรียง
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
บรรณานุกรม
เอกสารจากหอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ.
เฉลิมวงศ์ ปีตรังสี. “ประวัติท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์” ในอนุสรณ์งานสมโภชรับขวัญเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์. ๒๕๐๒.
ฟ. ฮีแลร์. “ดรุณศึกษา ปฐมวัย”, คำนำ, ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๖๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 22411 ครั้ง)