วัดฆ้องชัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
          วัดฆ้องชัยเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร แผนผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
          อาคารสิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่ ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐานอาคารที่เป็นแบบการก่อฐานสูง โดยฐานล่างทำเป็นฐานหน้ากระดานแต่มีการยืดให้สูงถึงระดับพื้นวิหารมีระยะถึง ๓.๑๐ เมตร จนดูเหมือนเป็นผนังอาคาร เหนือฐานหน้ากระดานก่อเป็น ฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีมุขเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บันไดสร้างขนาบมุขเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วิหารมีขนาด ๙ ห้อง เสารับเครื่องบนหลังคาเป็นเสาศิลาแลงแปดเหลี่ยม ไม่ปรากฏหลักฐานของการก่อผนัง จึงสันนิษฐานว่าเป็นอาคารโถง ภายในอาคารปรากฏแท่นอาสน์สงฆ์ทางด้านทิศใต้ของผนังอาคารและมีฐานชุกชีที่ประดิษฐานชิ้นส่วนฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งอยู่บริเวณกลางโถงอาคารวิหารระหว่างห้องที่ ๖ - ๗
          เจดีย์ประธานอยู่ถัดจากวิหารไปทางด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ต่อด้วยชั้นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม ประกอบด้วยชั้นฐานบัวคว่ำ ชั้นท้องไม้และชั้นฐานบัวหงาย ส่วนยอดเจดีย์ที่ถัดขึ้นไปพังทลาย ไม่ปรากฏรูปทรงเดิมที่แน่ชัด ซึ่งฐานเจดีย์ประธานของวัดฆ้องชัยนั้น มีความคล้ายกับฐานเจดีย์ประธานของวัดพระนอนที่อยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชรเช่นกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าส่วนยอดของเจดีย์ประธานของวัดฆ้องชัยอาจมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบเดียววัดพระนอน
         จากการขุดแต่งทางโบราณคดีบริเวณฐานอาคารวิหารได้พบชิ้นส่วนของประติมากรรมดินเผา รูปมกร หรือมกรสังคโลก ความสูง ๑๑๐ เซนติเมตร เขียนลายสีดำบนน้ำดินสีขาว แหล่งเตาเมืองเก่าสุโขทัย มกร (Makara) เป็นคำที่ใช้เรียกในภาษาสันสกฤต ถือว่าเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อที่ปรากฏในตำนานเทพนิยาย โดยมีร่างกายที่เป็นการผสมกันระหว่างสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น มีงวงเหมือนช้าง แต่มีปากเหมือนจระเข้และมีหางแบบปลา ในเทวตำนานของศาสนาฮินดู มกร ถือว่าเป็นพาหนะของพระวรุณ เทพเจ้าแห่งฝน ดังนั้น มกร จึงถือเป็นสัตว์ที่ใช้แทนสัญลักษณ์ของน้ำที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ประติมากรรมรูปมกรจึงมีความนิยมที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของงานสถาปัตยกรรม โดยประดับที่บริเวณราวบันได หรือชายคาของอาคาร เพื่อให้เกิดความสวยงามและสวัสดิมงคลกับอาคารนั้น ๆ ปัจจุบันประติมากรรมดินเผารูปมกร ที่พบจากวัดฆ้องชัย จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
         วัดฆ้องชัยจึงเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความสำคัญยิ่ง จากหลักฐานของงานช่างฝีมือที่ปรากฏให้เห็นในด้านสถาปัตยกรรมและความเชื่อความศรัทธาที่ปรากฏในงานประติมากรรม ล้วนแล้วแต่เป็นประจักษ์พยานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี













-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร
-----------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอก อินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. รายงานการขุดแต่งโบราณสถาน วัดฆ้องชัย. ม.ป.ท., ๒๕๒๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 1422 ครั้ง)

Messenger