เครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
          เอกสารโบราณและบันทึกชาวต่างชาติ มักกล่าวถึงพื้นที่บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์และ กรุงธนบุรีในนาม “เมืองบางกอก” โดยในสมัยอยุธยาเมืองบางกอกอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา๑ ในสมัยธนบุรีได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีแห่งใหม่หลังเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ เมืองถูกสร้างโดยใช้พื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำฯ ราชธานีอยู่ฝั่งตะวันตก วังลูกเจ้าเมืองบางกอก บ้านพระยาราชาเศรษฐี และชุมชนชาวจีนอยู่ฝั่งตะวันออก๒ กระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์พื้นที่ ฝั่งตะวันออกนี้ได้สร้างราชธานีและพระบรมมหาราชวังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน๓ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มีร่องรอยของชุมชนเรื่อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
          พ.ศ.๒๕๖๐ บริษัท กันต์กนิษฐ์ ก่อสร้าง จำกัด ดำเนินงานการปรับปรุงภูมิทัศน์รวมทั้งอาคารต่าง ๆ และงานขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เริ่มขุดค้นในปี พ.ศ.๒๕๖๒ โดย นายอนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ จำนวน ๕ หลุมขุดค้น (ขณะวิเคราะห์เครื่องถ้วยจีนดำเนินงานเพียง ๔ หลุมขุดค้น) จากการขุดค้นพบหลักฐานประเภทต่าง ๆ เช่น สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับวังท่าพระ เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง (Stoneware) เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อกระเบื้อง (Porcelain) รวมถึงเครื่องถ้วยจีนที่เป็นหลักฐานประเภทหนึ่งของเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อกระเบื้อง พบจำนวน ๒๓๐ ชิ้น (จาก ๔ หลุมขุดค้น) จากการวิเคราะห์เครื่องถ้วยจีน แบ่งอายุสมัยได้ ๒ สมัย ได้แก่ สมัยราชวงศ์ชิง มีอายุตั้งแต่ กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ตรงกับรัชกาลที่ ๑-๕ และสมัยสาธารณรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๔ ตรงกับรัชกาลที่ ๖ ส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตจากเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี เตาเต๋อฮั่วและเตาอันซี มณฑลฝูเจี้ยน เตาต้าปู้ มณฑลกว่างตง และกลุ่มเตาในมณฑลกว่างตงหรือมณฑลฝูเจี้ยน รูปแบบของเครื่องถ้วยจีนส่วนใหญ่เป็นจาน จานเชิง ชาม ชามมีฝา ถ้วย ถ้วยชา และโถ ตกแต่ง ด้วยการเขียนลายสีครามใต้คราม รวมทั้งการพิมพ์ลายสีครามใต้คราม เขียนลายสีบนเคลือบ เขียนสีลงยาบนเคลือบ (เครื่องถ้วยเบญจรงค์และเบญจรงค์แลทอง) เคลือบสีเขียว และเคลือบสีขาว
          จากการวิเคราะห์เครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระนี้ สรุปได้ว่า เครื่องถ้วยจีนมีอายุร่วมสมัยกับรัชกาลที่ ๑-๖ มีความเกี่ยวข้องกับการใช้งานสำหรับชนชั้นสูงภายในวังท่าพระ แต่ยังไม่พบเครื่องถ้วยจีนที่มีอายุในช่วงสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี อาจเพราะพื้นที่นี้ถูกใช้ในกิจกรรมการทำไร่สวนในสมัยอยุธยาที่ถูกกล่าวถึงในบันทึกชาวต่างชาติ พื้นที่นี้ไม่ได้มีความสำคัญมากเท่ากับบริเวณมิวเซียมสยามและรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย ซึ่งเป็นที่ตั้งของป้อมบางกอกหรือป้อมวิไชยเยนทร์ และในสมัยธนบุรีมีระยะเวลาความเป็นราชธานีอันสั้นจึงยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามจากการขุดค้นยังพบภาชนะดินเผาเนื้อดินแกร่ง หากมีการศึกษาหลักฐานประเภทนี้หรือขุดค้นในพื้นที่อื่นเพิ่มเติม อาจพบหลักฐานที่มีอายุร่วมสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรีและได้ข้อมูลมากขึ้น เพราะการขุดค้นทางโบราณคดี การ “ไม่พบ” ใช่ว่าจะ “ไม่มี”


แผนผังที่ ๑ ตำแหน่งหลุมขุดค้นทางโบราณคดี หลุมขุดค้นที่ ๑-๕ (TP.1-5) ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ


ภาพที่ ๑ ตัวอย่างเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิง มีอายุตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๔๕๓)


ภาพที่ ๒ ตัวอย่างเครื่องถ้วยจีนสมัยสาธารณรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๔ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๓ เป็นต้นมา)ภาพที่ ๒ ตัวอย่างเครื่องถ้วยจีนสมัยสาธารณรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๔ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๓ เป็นต้นมา)

-----------------------------------------------------
เชิงอรรถ
(๑) อ้างอิงจากแผนที่โบราณในบันทึกชาวต่างชาติ เช่น แผนที่นิรนามเขียนขึ้นโดยชาวฮอลันดาราวปี พ.ศ.๒๑๘๕ แผนที่ใน “จดหมายเหตุลา ลู แบร์” พ.ศ.๒๒๓๑ แผนที่ใน “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” โดย นิโกลาส์ แซรแวส พ.ศ.๒๒๓๑ เป็นต้น (๒) อ้างอิงจากพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ หลักฐานกำแพงเมืองธนบุรีบริเวณอนุสาวรีย์สหชาติ และแผนที่สงครามจราชลพม่า (๓) อ้างอิงจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ต านานวังเก่า และแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๓๖๗

-----------------------------------------------------
ผู้เขียน : กิจสุวรรณ โพธิ์สุวรรณ์ นักวิชาการวัฒนธรรม กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร
-----------------------------------------------------

รายการอ้างอิง
กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. “กรุงธนบุรี ในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์.” วิทยานิพนธ์ปริญญา ดุษฎีบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕. _______. โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๖๒. กิจสุวรรณ โพธิ์สุวรรณ์. “การศึกษาเครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ หลุมขุดค้นที่ ๑-๔.” เอกสารการศึกษาเฉพาะส่วนบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๒. ซิมอน เดอ ลา ลู แบร์. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๔๘. เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ข า บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (๒๐๐๖), ๒๕๖๒. ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๙. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์, และคณะ. องค์ประกอบทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๔. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๕. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. “การใช้เครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยเวียดนามในการกำหนดอายุหลักฐาน ทางโบราณคดีและรูปแบบศิลปะ : กรณีศึกษาลวดลายปูนปั้นประดับบนโบราณสถานใน ประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และจิราภรณ์ อรัณยะนาค. เครื่องปั้นดินเผาจีนและเบญจรงค์ ที่พบใน พระราชวังหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: ศูนย์อนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผา โบราณโรงเรียนถนอมบุตร, ๒๕๖๒. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, สว่าง เลิศฤทธิ์ และกฤษฎา พิณศรี. ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โอสถสภา, ๒๕๓๙. รูนีย์, ดอว์น เอฟ. เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง. แปลโดย จุฑามาศ อรุณวรกุล. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, ๒๕๖๐. หฤษฎ์ แสงไพโรจน์. “การใช้พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์บริเวณฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีจากหลักฐาน ทางโบราณคดี.” เอกสารการศึกษาเฉพาะส่วนบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 1901 ครั้ง)

Messenger