มณฑป เมืองศรีสัชนาลัย
มณฑป : เมืองศรีสัชนาลัย
เมืองศรีสัชนาลัยมีการพบอาคารประเภทมณฑปเป็นจำนวนมาก ซึ่งความนิยมในการสร้างมณฑปเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่เมืองศรีสัชนาลัยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่มีต้นกำเนิดจากลังกา การสร้างมณฑปนอกจากจะพบในวัฒนธรรมสุโขทัยแล้ว ยังนิยมสร้างและแพร่หลายในวัฒนธรรมของล้านนาด้วย โดยสร้างเป็นอาคารที่เรียกว่า “กู่” หรือ “ปราสาท” เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการจำลองคันธกุฎี โดยในพุทธประวัติกล่าวว่า “คันธกุฎี” เป็นที่ประทับขององค์พระพุทธเจ้า ณ เชตวันวิหาร ในเมืองสาวัตถี
การสร้างอาคารทึบตันที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอย่างมณฑปสุโขทัยนี้ จะมีความสอดคล้องกับการสร้าง “ปฏิมาฆระ” ที่แพร่หลายอยู่ในศิลปะลังกา ซึ่งเป็นอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปโดยเฉพาะ สร้างขึ้นจากความเชื่อที่ว่าพระพุทธรูป คือ รูปจำลองขององค์พระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงต้องสร้างให้มีที่ประทับส่วนพระองค์ โดยลักษณะแผนผังของปฏิมาฆระในลังกาจะมีความคล้ายกับแผนผังของมณฑปสุโขทัย คือ เป็นห้องสี่เหลี่ยม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป และมีช่องเปิดด้านหน้า
หลักฐานที่กล่าวถึงคำว่า “มณฑป” ในสมัยสุโขทัย ปรากฏความใน จารึกวัดอโสการาม ด้านที่ ๒ มีการจารึกเป็นอักษรไทยสุโขทัย ในปี พ.ศ.๑๙๔๒ กล่าวถึง สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทรงมีพระราชศรัทธาประดิษฐานพระสถูปบรรจุพระบรมธาตุไว้ในวัดอโสการาม ความว่า “...ทรงได้พระบรมธาตุมาแต่ลังกา ๒ องค์ คือ องค์ขนาดกลางเท่าเมล็ดข้าวสารหัก สีแก้วผลึก องค์ขนาดเล็กเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด สีดอกพิกุลแห้ง ทรงบรรจุไว้ ณ ห้องพระธาตุในพระสถูปซึ่งทรงสร้างพร้อมกับ (นว)กรรม (สิ่งก่อสร้าง) ทั้งปวง คือ วิหาร มณฑป เจดีย์ ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ ในวันอันเป็นศุภวารขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ จุลศักราชนับได้ ๗๖๑...” จากข้อความที่ปรากฏในจารึกนั้น คำว่า “มณฑป” คงเป็นที่รู้จักแล้วอย่างน้อยในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐
------------------------------------
เรื่องและภาพโดย : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย กรมศิลปากร
เอกสารอ้างอิง
-วิไลรัตน์ ยังรอด, เรียนรู้สุโขทัย ศรีสัชนาลัย, ๒๕๕๑.
-สงวน รอดบุญ , พุทธศิลปสุโขทัย, ๒๕๒๑.
-ทรงยศ วีระทวีมาศ, มณฑปแบบสุโขทัยในศรีสัชนาลัย, ๒๕๓๓.
-กรมศิลปากร, จารึกสมัยสุโขทัย, ๒๕๒๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 4003 ครั้ง)