เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง (ตอนที่ ๒)
เมืองโบราณฟ้าแดดสงยางเริ่มต้นการอนุรักษ์มาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๑ และได้มีการดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ การขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี รวมถึงการบูรณะและปรับสภาพภูมิทัศน์
๒๔๘๑ พระพาหิรัชต์พิบูล ข้าราชการสรรพากรจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าไปสำรวจและถ่ายภาพใบเสมา รวมทั้งพระพุทธรูปและโบราณสถาน ส่งให้นายฟรานซิส เฮนรีไกส์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมสรรพากร และเป็นกรรมการบริหารของสยามสมาคม พระพาหิรัชต์พิบูลได้บันทึกเรื่องตำนานเมือง และร่างแผนผังของเมืองโดยสังเขป พร้อมกับรายงานว่ามีใบเสมาปักเป็นแถวและเป็นวงกลม รวมทั้งใบเสมา ที่ชาวบ้านช่วยกันนำมารวมไว้ที่เมืองโบราณระหว่างปี พุทธศักราช ๒๔๗๘ - ๒๔๗๙ ประมาณ ๒,๐๐๐ แผ่น
พุทธศักราช ๒๔๙๗ นายอิริค ไชเดนฟาเดน ซึ่งเคยรับราชการเป็นพันตรีแห่งกองทัพไทย เขียนบทความเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้ลงพิมพ์ในวารสารวิชาทางการเมือง เรียกชื่อเมืองนี้ว่าเมืองกนกนคร และได้กล่าวถึงแผนผังของเมืองและรูปสลักใบเสมา ตลอดจนได้กล่าวว่าเมืองโบราณแห่งนี้เป็นเมืองสมัยทวารวดี
พุทธศักราช ๒๔๙๙ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิส ดิศกุล นำเสนอการศึกษาใบเสมาที่เมือง ฟ้าแดดสงยางในวารสารทางวิชาการว่า สามารถแบ่งกลุ่มใบเสมาตามลักษณะของการสลักภาพเล่าเรื่องออกเป็น ๓ กลุ่ม และได้กำหนดอายุของใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยางว่า มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
พุทธศักราช ๒๕๐๖ กรมศิลปากร โดย นายมานิต วัลลิโภดม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์เอก และนายจำรัส เกียรติก้อง ช่างศิลปกรรมเอก หัวหน้าแผนกสำรวจและคณะ ได้ทำการสำรวจทำแผนผัง และบันทึกภาพ
พุทธศักราช ๒๕๐๙ ศาสตราจารย์บวรเซอนิเยร์ แห่งมหาวิทยาลัยเซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส ได้เดินทางมาสำรวจเมืองฟ้าแดดสงยางและให้ความเห็นว่า เมืองฟ้าแดดสงยางยังมีโบราณสถานที่สมบูรณ์ อยู่อีกจำนวนมากควรที่จะทำการสำรวจขุดแต่ง เพื่อศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวารวดีต่อไปก่อนที่จะถูกทำลายเสียหายไปจนหมดสิ้น และในปีเดียวกัน อธิบดีกรมศิลปากรกับคณะได้เดินทางไปสำรวจโบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง และมีบัญชาให้หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ทำการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานภายในเมืองฟ้าแดดสงยาง
พุทธศักราช ๒๕๑๐ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น โดยนายหวัน แจ่มวิมล พร้อมด้วยคณะ ได้ทำการ ขุดแต่งโบราณสถานภายในเมืองฟ้าแดดสงยาง จำนวน ๙ แห่ง
พุทธศักราช ๒๕๑๑ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ทำการขุดแต่งต่อจากปี ๒๕๑๐ จำนวน ๕ แห่ง รวมที่ทำการขุดแต่งทั้งหมดเป็น ๑๔ แห่ง นำไปสู่ข้อสรุปว่า เมืองฟ้าแดดสงยาง เคยเป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ และอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๓ โดยการสร้างเจดีย์แบบอยุธยาซ้อนทับเจดีย์แบบทวารวดีหลายแห่ง ที่เห็นได้ชัดคือ พระธาตุยาคู ซึ่งฐานล่างสุดเป็นฐานแบบทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานแบบอยุธยา และบนสุดเป็นเจดีย์ทรงเรียวสูงแบบรัตนโกสินทร์
พุทธศักราช ๒๕๒๒ กรมชลประทานได้ขุดรื้อดินดำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือ เพื่อนำดินไปถมคัดคลองน้ำชลประทาน มีความยาวประมาณ ๔๐ เมตร แล้วสร้างคลองส่งน้ำจากเขื่อนลำปาวตัดผ่าน ทำให้ คูเมืองกำแพงเมืองขาดหายไปส่วนหนึ่ง
พุทธศักราช ๒๕๒๖ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ได้รับงบประมาณดำเนินการบูรณะเสริม ความมั่นคงพระธาตุยาคูในส่วนที่เป็นฐานแปดเหลี่ยมและตัวองค์พระธาตุจนแล้วเสร็จ
พุทธศักราช ๒๕๓๓ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ได้รับงบประมาณจากโครงการฟื้นฟูและบูรณะโบราณสถานเพื่อพัฒนาในเขตพื้นที่อีสานเขียว ได้ทำการขุดลอกคูเมืองฟ้าแดดสงยางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่ชาวบ้านเรียกว่า หนองบัวยาว มีขนาดความกว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๔๘๐ เมตร พร้อมทั้งถมดินเสริมกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในโดยมีความกว้าง ๖ เมตร สูง ๒ เมตร
พุทธศักราช ๒๕๓๔ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ได้รับงบประมาณจัดสรรโครงการอีสานเขียว ดำเนินการขุดลอกคูเมืองเป็นระยะทาง ๒,๗๕๐ เมตร มีความกว้าง ๓๐ เมตร และปรับปรุงกำแพงเมืองชั้นใน กว้าง ๖ เมตร สูง ๒ เมตร ยาวตลอดรอบกำแพงเมือง พร้อมทั้งปลูกหญ้าพื้นเมืองและต้นไม้ตามแนวกำแพงเมือง รวมทั้งได้นำเนินงานด้านโบราณคดีโดยการขุดค้นและออกแบบเพื่อบูรณะโบราณสถานจำนวน ๑๐ แห่ง และได้บูรณะโบราณสถานหมายเลข ๓๐๒ ที่เรียกว่า โนนวัดสูง
ในปีเดียวกัน กรมศิลปากรได้ขอความร่วมมือคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ เพื่อทำการขุดค้นหาคำตอบเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณอื่น ๆ โดยเน้นไปยังจุดที่เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งทำการขุดค้น ๕ หลุม ขนาดหลุมละ ๔ x ๔ เมตร โดยหลุมที่ ๑, ๒ และ ๓ ขุดบริเวณโนนเมืองเก่า หลุมที่ ๔ ขุดบริเวณนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่เรียกว่า โนนฟ้าแดด หลุมที่ ๕ ขุดค้นบริเวณดอนงิ้วซึ่งอยู่ใกล้กับคูเมืองชั้นในด้านทิศตะวันตก และยังทำการขุดหลุมทดสอบขนาด ๒ x ๒ เมตร อีกจำนวน ๔ หลุม ภายในเมืองฟ้าแดดสงยาง
พุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้รับงบประมาณปรับปรุงกำแพงเมืองชั้นนอก อันเนื่องมาจากได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยทำการถมบดอัดดินลูกรังหน้า ๐.๐๓ เมตร กว้าง ๖ เมตร มีความยาวทั้งสิ้น ๒,๑๐๐ เมตร
พุทธศักราช ๒๕๓๙ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี ได้รับงบประมาณเพื่อพัฒนาปรับปรุงกำแพงเมืองชั้นในต่อจากปี ๒๕๓๗ ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเช่นเดียวกัน โดยทำการบดถมอัดดินลูกรังหนา ๐.๐๓ เมตร กว้าง ๖ เมตร ยาว ๒,๖๐๐ เมตร //ในปีเดียวกันได้รับงบประมาณดำเนินการขุดแต่งบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานพระธาตุยาคู (หมายเลข ๑๐๑) และเจดีย์บริวาร (หมายเลข ๑๐๒, ๑๐๓ และ ๑๐๔) รวมทั้งได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานโนนฟ้าแดด (หมายเลข ๗) โบราณสถานกลุ่มโนนศาลา (หมายเลข ๘๐๑ และ ๘๐๒)
พุทธศักราช ๒๕๔๑ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี ได้รับงบประมาณบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานหมายเลข ๔, ๙ และ ๘๐๓
พุทธศักราช ๒๕๕๔ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด ร่วมกับ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำการศึกษาเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง และจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง
ปัจจุบันชุมชนท้องถิ่นได้เข้ามาใช้ประโยชน์เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ในรูปแบบแหล่งท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรมส่งผลให้เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น แนวทางการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นและการอนุรักษ์โบราณสถานให้คงคุณค่าอย่างสมดุล ยังคงต้องถอดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป
------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
จังหวัดกาฬสินธุ์. แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๔. ผาสุข อินทราวุธ และคณะ. รายงานการขุดค้นเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. ม.ป.ท. : ม.ป.ป., ๒๕๓๔. (เอกสารอัดสำเนา) หวัน แจ่มวิมล. รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์. กรมศิลปากร : หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น, ๒๕๑๑. (เอกสารอัดสำเนา)
(จำนวนผู้เข้าชม 10620 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน