เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
อาคารเก่าริมฝั่งโขงเมืองนครพนม (ตอนที่ ๑) อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่า
นครพนม เป็นจังหวัดชายแดนของประเทศไทยในภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวกั้นแบ่งพรมแดน มีความยาวเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ ๑๕๓ กิโลเมตร ตลอดความยาวเลียบชายฝั่งแม่น้ำโขงดังกล่าว จะพบอาคารเก่าสมัยอาณานิคมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตัวเมืองนครพนม ซึ่งปัจจุบันจังหวัดนครพนมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ จนกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดนคร ที่ใครๆหลายคนให้ความสนใจมาศึกษาเที่ยวชม ในที่นี้จะขอเสนอเรื่องราวอาคารเก่าริมฝั่งโขงเมืองนครพนม โดยเริ่มจาก “อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนม” หลังเก่า ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมที่หลายคนได้มาเยี่ยมชมจะเกิดความประทับใจยิ่ง นอกจากความงามของอาคารภายนอกแล้ว การได้เข้าไปในตัวอาคารเพื่อนั่งอ่านหนังสือเล่มโปรดในบรรยายกาศที่เงียบสงบ ยิ่งเพิ่มความประทับได้ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย เนื่องจากปัจจุบัน อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่า กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เป็น “หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นต้นมา
อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๖๒ สมัยพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างคือ นายสุมังค์ ปทุมชาติ อดีตปลัดอำเภอ หัวหน้าการก่อสร้างเป็นช่างชาวญวณชื่อ นายก่าย ใช้แรงงานผู้ต้องขังในการก่อสร้าง ที่ออกแบบโดยนายแพทย์ชาวอเมริกัน ในนามคณะมิสชั่นนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ในเหตุการณ์พิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสได้ยิงปืนใหญ่จากเมืองท่าแขก ข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองนครพนม ทำให้อาคารศาลากลางจังหวัดชั้นสองได้รับความเสียหาย เมื่อซ่อมแซมแล้วได้ใช้งานต่อมากระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๓ จึงได้ย้ายออกไปยังอาคารศาลากลางแห่งใหม่และได้ยกให้กรมศิลปากรดำเนินการอนุรักษ์จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ จึงได้ใช้เป็นที่ทำการหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม จนปัจจุบัน
ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้เป็นแบบโคโลเนียล ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต่อมุขตรงมุมอาคารด้านเหนือและใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่แม่น้ำโขง ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนไม่เสริมเหล็ก โครงสร้างอาคารใช้ผนังรับน้ำหนักหลังคาปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผาสีแดง ส่วนประกอบโครงสร้างต่างๆ ทำจากไม้ พื้นอาคารทุกชั้นปูด้วยไม้กระดานวางบนตงไม้ ตัวอาคารหลักมี ๒ ชั้น จำนวน ๑๗ ห้อง ส่วนมุขซ้ายและขวามีชั้นที่ ๓ ประตูทางเข้าด้านหน้า ๓ ทาง ประตูด้านหลัง ๒ ทาง ห้องโถงกลางอาคารมีบันไดไม้ประดับราวลูกกรงไม้ เป็นทางเดินขึ้นไปบนชั้น ๒ แยกซ้ายและขวา
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๒ เนื้อที่โบราณสถานประมาณ ๖ ไร่ ๙๒ ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดใน พ.ศ. ๒๕๕๐
-------------------------------------------------------
จัดทำข้อมูล : นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
-------------------------------------------------------
ที่มา
- คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.๒๕๔๒.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว. - เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ.สยาม ร.ศ.๑๑๒ วิกฤตแผ่นดิน พิพาทฝรั่งเศสและเสียดินแดน.กรุงเทพฯ:คอนเซพท์พริ้นท์.
(จำนวนผู้เข้าชม 2762 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน