เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระเศียรและพระบาท พระพุทธรูปทองคำ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง
พระเศียรและพระบาท พระพุทธรูปทองคำ พบจากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระเศียรพระพุทธรูป สูงประมาณ ๕ เซนติเมตร พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรปิด พระกรรณยาว พระโอษฐ์อมยิ้ม จากรูปแบบศิลปกรรมกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) และพระบาทพระพุทธรูป ยาวประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร มีพระองคุลีบาท (นิ้วพระบาท) ยาวเสมอกัน พระปราษณี (ส้นพระบาท) ยาว และมีฝ่าพระบาทราบ พุทธลักษณะเหล่านี้ ช่างสมัยทวารวดีสร้างขึ้นตามตำรามหาปุริสลักขณะ (มหาบุรุษลักษณะ)
พระเศียรและพระบาทพระพุทธรูปทองคำนี้ พบจากการขุดแต่งด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์หมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ ถึงแม้พระเศียรและพระบาทดังกล่าวจะไม่ได้ขุดพบร่วมกัน แต่บริเวณที่พบโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นไม่ห่างกันนัก ประกอบกับขนาดและสัดส่วนของพระเศียร และพระบาทดังกล่าว มีความสอดคล้องกัน จึงสันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปองค์เดียวกัน และเป็นพระพุทธรูปยืน ซึ่งอาจแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) อันเป็นที่นิยมในสมัยทวารวดี แบบเดียวกับกลุ่มพระพุทธรูปสำริด พบในเมืองโบราณอู่ทอง ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ที่เริ่มมีการผสมผสานกับศิลปะท้องถิ่น และพัฒนาเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีในที่สุด
พระพุทธรูปทองคำองค์นี้ จัดเป็นงานศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมสมัยทวารวดี ทองคำถือเป็นโลหะมีค่า ที่ใช้สร้างรูปเคารพและเครื่องประดับสมัยทวารวดี แม้พระพุทธรูปองค์นี้จะมีขนาดเล็ก แต่มีลายละเอียดชัดเจน แสดงถึงความชำนาญ ฝีมือและภูมิปัญญาของช่างทองสมัยทวารวดี นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอดีตของเมืองโบราณอู่ทองได้เป็นอย่างดี
------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๒ สุพรรณบุรี กรมศิลปากร จัดพิมพ์, ๒๕๔๕. กรมศิลปากร. ศิลปะทวารวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๒. พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง และเรื่องราวสุวรรณภูมิ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. เปิดประตูสู่ทวารวดี. นครปฐม : มิตรเจริญการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 1895 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน