...

โบราณวัตถุจากภายนอกที่แสดงถึงการเข้ามาของชาวอินเดีย
           เมื่อพ่อค้าชาวอินเดียได้เดินทางมาค้าขายกับดินแดนสุวรรณภูมิรวมทั้งบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ได้นำสินค้าที่เป็นที่นิยมในอินเดียช่วงเวลานั้น (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕–๙) เช่น สินค้าของอินเดีย สินค้าของโรมัน สินค้าที่เลียนแบบสินค้าโรมัน เข้ามาแลกเปลี่ยนกับทรัพยากรของสุวรรณภูมิ จึงทำให้พบโบราณวัตถุนำเข้าจากภายนอกตามแหล่งโบราณคดีที่เป็นเมืองท่าโบราณในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์หลายประเภท เช่น
          - ภาชนะดินเผาแบบอินเดีย เช่น ภาชนะดินเผาอินเดียแบบซี่ฟันเฟือง (Rouletted Ware) ภาชนะชนิดนี้ เรียกตามเทคนิคการตกแต่งผิว คือ การตกแต่งด้วยการกดด้วยซี่ฟันเฟืองลงบนผิวภาชนะที่ยังไม่แห้งสนิททำให้เกิดลายขุดลึกที่เป็นแถวอย่างมีระเบียบ เป็นภาชนะเนื้อดีขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเมื่อผ่านการเผาแล้วจะมีสีเทา หรือ สีชมพูอมเทา เทคนิคนี้ เป็นการตกแต่งภาชนะดินเผาที่นิยมกันในสมัยเฮเลนนิสติก (Hellenistic period) จนถึงสมัยโรมัน


          - ตราประทับ ลูกปัด และเครื่องประดับ ที่มีสัญลักษณ์มงคล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลของชาวอินเดียที่ใช้กันอยู่ในสมัยโบราณ เช่น สวัสดิกะ/สิงห์/ไตรรัตน์ หรือ ตรีรัตน์ หรือ นนทิปาทะ/ปลาคู่/ช้าง เป็นต้น


          - หัวแหวน หรือ จี้ (Intaglio/cameo) สลักเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับเทพนิยายกรีก-โรมัน ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงเวลานั้น สันนิษฐานว่า หัวแหวนสลักภาพเล่าเรื่องตามคตินิยมของกรีกโรมันที่พบในแหล่งโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเลียนแบบสินค้าโรมันซึ่งอาจมีแหล่งผลิตที่อินเดียหรือบริเวณคาบสมุทรมลายู 
           - ลูกปัดหิน เช่น ลูกปัดหินคาร์เนเลียนแบบฝังสี (Etched Beads) ลูกปัดหินคาร์เนเลียนแบบเรียบลูกปันหินอาเกต ลูกปัดหินอเมทิสต์ ลูกปัดหินควอทซ์ เป็นต้น
           - ลูกปัดแก้วชนิดต่างๆ เช่น ลูกปัดแก้วสีเดียว (Monochrome Beads) ลูกปัดแก้วหลายสี (Striped Beads) ลูกปัดแก้วมีตา (Eye Beads) ลูกปัดแก้วหน้าคนแบบโรมัน (Roman Beads) เป็นต้น

           - ลูกปัดโลหะ เช่น ลูกปัดตะกั่วทรงลูกทุ่น เป็นต้น
           ต่อมาเมื่ออินเดียมีการเพิ่มปริมาณการค้ากับสุวรรณภูมิและภาคใต้ของไทย สันนิษฐานว่าน่าจะมีนักบวชของแต่ละศาสนาติดตามเข้ามาด้วย การเข้ามาของพ่อค้าและนักบวชเหล่านี้ ทำให้ผู้นำชุมชนหรือชาวพื้นเมืองได้ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับชาวอินเดียมากขึ้น โดยอาจมีการตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ หรือการตั้งสถานีการค้าชั่วคราว รวมทั้งยังมีการเผยแผ่ลัทธิความเชื่อทางศาสนาที่ตนนับถือให้แก่ผู้นำชุมชนและชาวพื้นเมืองในบริเวณเมืองท่าโบราณหรือบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนได้มีการพบประติมากรรมหรือรูปเคารพในศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และโบราณสถานต่างๆ กระจายอยู่ตามเมืองท่าโบราณในเวลาต่อมาค้นคว้า

--------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
-------------------------------------------------

อ้างอิง :
- ผาสุข อินทราวุธ .ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี = Dvaravati : a critical study based on archaeological evidence. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542. - สำนักโบราณคดี. กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 3220 ครั้ง)


Messenger