เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
แหล่งโลหกรรมสมัยโบราณ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
แหล่งโลหกรรมสมัยโบราณ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า มีแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งเตาภาชนะดินเผาสำคัญ ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ อีกทั้งมีแหล่งตัดหินทรายสำคัญที่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง รวมไปถึงปราสาทหินต่างๆ ที่พบในแถบพื้นที่ใกล้เคียง แต่น้อยคนที่จะทราบว่าในพื้นที่อำเภอบ้านกรวดนั้นยังมีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตเหล็กขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตเหล็กที่ไม่ใช้แร่เหล็กตามธรรมชาติ แต่เป็นการใช้เม็ดแลง (Laterite) ที่พบได้มากในพื้นที่อำเภอบ้านกรวดเท่านั้น
การศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่บ้านกรวด เริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ. 2530 ในโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยกองโบราณคดี ได้สำรวจพบว่าในพื้นที่ของอำเภอบ้านกรวดมีเนินดินรูปร่างไม่สม่ำเสมอตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านเขาดินใต้ รวมถึงโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับการถลุงเหล็ก ได้แก่ ตะกรันจากการถลุงเหล็ก ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วผิวดิน จึงทำให้เริ่มทราบกันว่าบ้านเขาดินใต้เป็นแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ณัฏฐภัทร จันทวิช : 2532) รวมถึงในระหว่าง พ.ศ.2532 -2535 โครงการศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการถลุงเหล็กและการผลิตเกลือโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่าง ศาสตราจารย์อิจิ นิตตะ มหาวิทยาลัยคาโกชิมา ประเทศญี่ปุ่น รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ชลิต ชัยครรชิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ชลิต ชัยครรชิต 2540 : 35) ได้สำรวจร่องรอยการถลุงเหล็กในพื้นที่เนินดินทางทิศใต้ของหมู่บ้านเขาดินใต้ เป็นเนินดินที่เกิดจากการทับถมของตะกรันจากการถลุงเหล็ก
ต่อมาใน พ.ศ.2548 โครงการวิจัยเรื่องการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ของถนนสมัยโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งมี พอ.ผศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ และ ผศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน จากกรมศิลปากร และ รศ.ดร.สุรพล นาถะพินถุ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมที่แหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณ รวมทั้งแหล่งเตาเผาภาชนะดินเผาสมัยโบราณที่กระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด ซึ่งผลจากการสำรวจนี้ได้ค้นพบและระบุแหล่งโลหกรรมในเขตพื้นที่อำเภอบ้านกรวดได้ถึง 67 แหล่ง (สุรัตน์ เลิศล้ำ และคณะ : 2550 – 2551 : 22)
ในปีพ.ศ.2550 และ พ.ศ.2551 โครงการวิจัยเรื่องการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ของถนนโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระยะที่สอง ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณบ้านเขาดินใต้ จำนวน 2 ครั้ง และทำการขุดค้นที่แหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราญบ้านสายโท 7 ตำบลจันทบเพชร อำเภอบ้านกรวด ในปีพ.ศ. 2553 โดยนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งผลการวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อหาค่าอายุจากแหล่งโลหกรรมที่บ้านเขาดินใต้ กำหนดอายุได้ราว 200 AD หรือราว 1,800 ปีมาแล้ว (Pira Venunan:2015) โดยเป็นการถลุงเหล็กโดยใช้ Laterite เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล็กของพื้นที่
ในเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2563 ได้มีการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองจิก ในเขตตำบลบ้านกรวด อำเภอบ้านกรวด ในโครงการศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาเพื่อบรรจุภัณฑ์ในวัฒนธรรมเขมร โดย ดร.ภัคพดี อยู่คงดี ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร และคณะ ก็ได้พบร่องรอยหลักฐานของการถลุงเหล็กในพื้นที่ดำเนินงานเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิเคราะห์และการหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์
เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอบ้านกรวด เนินดินซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเนินเตาถลุงเหล็ก และเตาเผาภาชนะดินเผาหลายแห่งที่เคยสำรวจพบ ได้ถูกทำลายลง เนื่องจากการเติบโตของชุมชน และความต้องการขยายพื้นที่เกษตรกรรม
ภาพซากเตาถลุงเหล็กจากแหล่งโบราณคดีบ้านเขาดินใต้ อำเภอบ้านกรวด
ตัวอย่างเนินดินซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเนินเตาถลุงเหล็กแห่งหนึ่งในอำเภอบ้านกรวด ซึ่งกำลังจะถูกทำลายลง
---------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : อิสราวรรณ อยู่ป้อม นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนางานโบราณคดี กองโบราณคดี
---------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 2349 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน