หงส์ประดับบนยอดเสา เมืองกำแพงเชร
           นอกจากประติมากรรมรูปหงส์ดินเผาแล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่องค์ความรู้ เรื่อง ประติมากรรมดินเผารูปหงส์จากโบราณสถานวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร) เมืองกำแพงเพชรยังพบประติมากรรมรูปหงส์สำริดลงรักปิดทองที่ใช้ประดับบนยอดเสา โดยมีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนหัวมีหงอนสลักลายไทยพลิ้วลู่ลม ลำคอยาวระหง ลำตัวสลักลวดลายเลียนแบบลายของลำแพนหางนกยูง ปีกแผ่กว้าง หางสลักลายกระหนกเปลวอย่างอ่อนช้อย สง่า งดงามทั้งลำตัว ยืนบนฐานบัวหงายซ้อนกลีบอย่างประณีต
          หงส์เป็นสัตว์ในจินตนาการและสัตว์ชั้นสูงที่มักปรากฏในวรรณคดี ตำนาน รวมทั้งคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู สมัยโบราณอาจใช้ห้อยโคมไฟตามทางด้านหน้าอุโบสถของวัดสำคัญและในวัง หรืออาจใช้แขวนตุง (ธง) ซึ่งมักพบอยู่ตามวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้คงมีคติในการสร้างเพื่อถวายวัดเป็นพุทธบูชา โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดอานิสงส์ผลบุญแก่ผู้สร้างถวายเอง และยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
          ประติมากรรมรูปหงส์ประดับบนยอดเสาที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ วัดหงษ์ทอง ตำบลสลกบาตร อำเภอขาณุวรลักษบุรี วัดปราสาท ตำบลคณฑี อำเภอเมืองกำแพงเพชร และวัดอัมพาพนาราม (วัดวังไทร) ตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง ซึ่งหงส์ประดับยอดเสาของวัดอัมพาพนารามได้จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร โดยพระครูบาน บุญญโชโต เจ้าอาวาสวัดอัมพาพนารามขณะนั้น มอบให้เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๕ กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ ศิลปะรัตนโกสินทร์








-------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
-------------------------------------
บรรณานุกรม
- กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์. การศึกษาเรื่องหงส์จากศิลปกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๕๐. - ศิลปากร, กรม. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 912 ครั้ง)

Messenger