เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
อาคารสโมสรจังหวัดสงขลา: โบราณสถานแห่งความทรงจำของคนสงขลาแต่แรก
โบราณสถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหาดสมิหลา เป็นโบราณสถานที่มีความสวยงาม และมีสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสงขลาซึ่งไม่ค่อยมีคนรู้จัก นั่นคือ สงขลาสโมสร หรือ สโมสรข้าราชการจังหวัดสงขลา
สงขลาสโมสร หรือ สโมสรข้าราชการจังหวัดสงขลา" ได้ก่อตั้งมาอย่างน้อยประมาณ ร.ศ.๑๓๑ หรือปี พ.ศ. ๒๔๕๕ (ในช่วงต้นร. ๖) แต่ตัวอาคารของสโมสรนั้นได้ก่อสร้างในภายหลังคือเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยพระยาภัทรนาวิกธรรมจำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสงขลาในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่มให้มีการก่อสร้างขึ้นเป็นอาคารที่มีฝาผนังก่อด้วยหิน พร้อมด้วยสนามเทนนิส และโต๊ะบิลเลียดที่มีอุปกรณ์ครบครัน ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น ๒๕,๐๐๐ บาท ซึ่งช่วงเวลานั้นตรงกับสมัยที่พระยาศรีธรรมราชชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดีพิริยพาหุ (ทองคำ กาญจนโชติ) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชคนสุดท้าย
ในระยะแรกคงเรียกขานกันว่า สถานสงขลาสโมสร เพื่อเป็นสถานที่ให้ข้าราชการได้พบปะ อุปการะช่วยเหลือกัน ส่งเสริมความสามัคคี และกิจกรรมการกุศลสาธารณประโยชน์ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ในคืนวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ (หรืออาจเป็นคืนวันที่ ๕ ธ.ค.๘๔) กงศุลใหญ่ญี่ปุ่นได้เชิญข้าราชการทหารและพลเรือนของไทยเข้าร่วมงานเลี้ยงที่สโมสรฯ โดยมีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ (นครศรีธรรมราช) ซึ่งมาราชการที่สงขลาได้ไปร่วมในงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย หลังจากนั้นในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและยึดสถานที่ราชการบริเวณแหลมสมิหลาแล้ว กองทัพญี่ปุ่นจึงใช้อาคารสโมสรข้าราชการจังหวัดสงขลาเป็นที่ตั้งกองบัญชาการชั่วคราวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น อาคารสโมสรจังหวัดสงขลาจึงมีการใช้งานที่สำคัญอีกครั้งเป็นพลับพลาที่ประทับชั่วคราวของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพุธที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๒ เพื่อทอดพระเนตรการแสดงกีฬาชนโค และการรำมโนราห์ของนักเรียนจากโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสงขลา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนพสกนิกรจังหวัดสงขลา และจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ นายชิต นิลพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในขณะนั้นได้ริเริ่มประชุมคัดเลือกคณะกรรมการชุดแรก ๑๐ คน และเสนอเรื่องขอจัดตั้งสโมสร เป็นสมาคมสโมสรจังหวัดสงขลา โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติตอบอนุญาตเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๑ และนายทะเบียนสมาคมจังหวัดสงขลาได้รับจดทะเบียนเป็นเลขลำดับที่ ๑๙๘ ไว้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๑
ในปีพ.ศ. ๒๕๓๑ บริษัท สถานสงขลา จำกัด ได้ขอทำสัญญาเช่าอาคารสโมสรจังหวัดสงขลาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (หมดสัญญาเช่าวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๘) โดยผู้เช่าได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสโมสรฯ ตามแบบของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาแล้วสองครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นเงินจำนวน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านห้าแสนบาทถ้วน) และครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นเงินจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)
โบราณสถานแห่งนี้จึงนับเป็นอาคารสโมสรข้าราชการหลังแรกของจังหวัดสงขลา และมีบทบาทอยู่ในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสงขลาทั้งช่วงเริ่มต้นและในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกทั้งยังเป็นอาคารสำคัญหนึ่งในไม่กี่แห่งของจังหวัดสงขลาที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกดังกล่าว เพราะอาคารสำคัญอื่นๆที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมักจะได้รับความเสียหายจากภัยสงคราม และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคืออาคารหลังนี้ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำและความภาคภูมิใจของพสกนิกรชาวสงขลาที่ได้มาเข้าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันพุธที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๒ อีกด้วย
นอกจากประวัติแห่งการก่อสร้างและประวัติการใช้งานที่สำคัญแล้ว ความน่าสนใจของอาคารหลังนี้ คือการใช้หินแกรนิตสอด้วยปูนก่อขึ้นเป็นผนังอาคาร ซึ่งน่าจะเป็นเทคนิคและความสามารถเฉพาะของบรรพบุรุษชาวสงขลาในงานก่อสร้างที่ใช้หินเป็นวัสดุหลัก โดยผ่านการเรียนรู้สะสมประสบการณ์และถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่เมื่อครั้งก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการต่างๆที่เมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดงในสมัยอยุธยาตอนกลาง เรื่อยมาจนถึงการก่อสร้างกำแพงเมืองสงขลาเก่าฝั่งบ่อยาง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และการสร้างกำแพงวัดมัชฌิมาวาสกับวัดแจ้งด้วย จึงถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์งานก่อสร้างเฉพาะตัวของพื้นถิ่นสงขลา และอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆในเมืองสงขลาก็ไม่ปรากฏการก่อสร้างโดยใช้หินสอปูนก่อขึ้นเป็นผนังอาคารด้วยเช่นกัน อาคารสโมสรจังหวัดสงขลาจึงน่าเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวในเมืองสงขลาที่ยังคงเก็บรักษาและแสดงอัตลักษณ์งานก่อสร้างโดยใช้หินสอปูนก่อขึ้นเป็นผนังอาคารของช่างชาวสงขลาได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การเลือกใช้คำในภาษาบาลีมาเป็นข้อความประกอบด้านล่างตราสัญลักษณ์จังหวัดสงขลาที่หน้าจั่วด้านหน้าของอาคาร คือคำว่า “ปณฺฺฑิตานญฺฺจเสวนา” ซึ่งเป็นมงคลข้อที่ ๒ ของมงคล ๓๘ ประการ ในคำสอนทางพระพุทธศาสนามีความหมายว่า การคบหาสมาคมกับบัณฑิต นักปราชญ์ หรือผู้มีปัญญา จัดเป็นมงคลแก่ชีวิต ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะอาจจะทำให้ได้รับความรู้ เกิดปัญญา และความเจริญสุขสวัสดิ์แก่ตน ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล
การมีข้อความนี้ปรากฏอยู่ด้านหน้าอาคารสโมสรจังหวัดสงขลา อาจจะต้องการสื่อความหมายเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ข้าราชการในสโมสรรู้จักคบหาแต่คนดีมีความรู้ เพื่อจะได้ช่วยกันนำความรู้ไปพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป หรืออีกนัยยะหนึ่ง หมายถึง สโมสรจังหวัดสงขลา เป็นสถานที่แห่งการเสวนาพบปะกันของข้าราชการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบัณฑิตผู้มีความรู้ความสามารถนั่นเอง
------------------------------------
เรียบเรียงมาจาก : รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานอาคารสโมสรจังหวัดสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ปี ๒๕๖๐ ซึ่งจัดทำโดย นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
------------------------------------
ที่มาของข้อมูล
หนังสือ-วารสาร ๑. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ .วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา.กรุงเทพ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๕. ๒.คณะศาลจังหวัดสงขลา.อนุสสรเมืองสงขลา.พิมพ์แจกเป็นที่ระฤกในงานพิธีเปิดที่ทำการใหม่ศาลจังหวัดสงขลา วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๘๔ ๓. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร. ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : หจก.ภาพพิมพ์, ๒๕๔๔. ๔. ศิลปกรรมพิเศษ, ขุน (แปลก ศิลปกรรมพิเศษ). ๒๕๓๑. “เมื่อญี่ปุ่นบุกสงขลา” วารสารรูสมิแล ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๒ : หน้า ๘๓-๘๔, มกราคม – เมษายน ๒๕๓๑. ๕. สรศัลย์ แพ่งสภา. สงครามมืด วันญี่ปุ่นบุกไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๕๘. ภาพถ่ายเก่า ๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา ๒. อาจารย์จรัส จันทร์พรหมรัตน์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
(จำนวนผู้เข้าชม 2313 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน