“พระพิมพ์ดินเผา แสดงภาพพุทธประวัติ ตอนมหาปาฏิหาริย์” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ขอนำเสนอโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอันมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ภายหลังการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือ “พระพิมพ์ดินเผา แสดงภาพพุทธประวัติ ตอนมหาปาฏิหาริย์”








พระพิมพ์แสดงภาพพุทธประวัติ ตอนมหาปาฏิหาริย์
วัสดุ ดินเผา
ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-13
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส
...................................................................................
          พระพิมพ์ดินเผารูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าเป็นภาพพระพุทธเจ้าอยู่ในอิริยาบทประทับนั่งขัดสมาธิราบ ล้อมรอบด้วยมนุษยนาค และเหล่าทวยเทพเทวดา พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ มีฉัพพรรณรังสีล้อมรอบพระเศียร ประทับนั่งบนดอกบัว ซึ่งมีก้านบัวงอกออกมาจากเบื้องล่าง ตรงก้านบัวมีรูปบุคคล 3 คน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นมนุษยนาค ถัดขึ้นมาในระดับเดียวกับพระพุทธเจ้า ปรากฏรูปบุคคลยืนในท่าตริภังค์ (ท่ายืนโดยเอียง 3 ส่วนคือ สะโพก ไหล่ และศีรษะ) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทพเทวดา ด้านบนสุดของภาพ มีกลุ่มบุคคลแสดงท่าทางคล้ายกำลังเหาะอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งน่าจะเป็นเหล่าทวยเทพเทวดาที่เสด็จลงมาเฝ้าพระพุทธเจ้า และที่มุมบนด้านข้างของภาพมีวงกลมขนาดเล็ก 2 วง ภายในเป็นรูปบุคคลเห็นเพียงครึ่งตัว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์
          ส่วนด้านหลังของพระพิมพ์ เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี มีข้อความเป็นคาถา “เย ธมฺมาฯ” ลักษณะเป็นรอยขูดขีดด้วยวัสดุปลายแหลม ซึ่งน่าจะเป็นการจารึกด้วยมือโดยตรงก่อนนำไปเผา โดยคาถา “เย ธมฺมาฯ” ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาที่พบได้ทั่วไปในดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนาในเอเชีย รวมทั้งในประเทศไทย คาถาดังกล่าวมักจารึกบนวัสดุต่าง ๆ หลายประเภท ทั้งแผ่นลานทอง ลานเงิน แผ่นอิฐ แผ่นศิลา จารึกบนพระพิมพ์ พระพุทธรูป และรูปเคารพพระโพธิสัตว์ มักจะจารึกด้วยตัวอักษรตามยุคสมัย และอักษรที่ใช้อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น อักษรพราหมีสมัยราชวงศ์คุปตะ อักษรปัลลวะ เป็นต้น ส่วนภาษาที่จารึกจะเป็นภาษาบาลี หรือสันสกฤต
          จากลักษณะองค์ประกอบโดยรวมของพระพิมพ์ดินเผาองค์นี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นพระพิมพ์ดินเผาแสดงภาพพุทธประวัติ ตอนมหาปาฏิหาริย์ ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี โดยทรงประทับนั่งบนดอกบัวซึ่งถูกเนรมิตขึ้นโดยราชาแห่งนาค 2 ตนนามว่า นันทะ และอุปนันทะ มีพระพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าทวยเทพเทวดาทั้งหลายเสด็จลงมาเข้าเฝ้า
          พระพิมพ์ดินเผาองค์นี้เป็นพระพิมพ์ศิลปะทวารวดี น่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ไม่ปรากฏแหล่งที่มาแน่ชัด แต่น่าจะถูกนำมาจากที่อื่น เนื่องจากเป็นวัตถุที่มีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายนำไปยังที่ต่าง ๆ ได้ง่าย ทั้งนี้ยังพบพระพิมพ์ดินเผาจากแม่พิมพ์เดียวกันนี้ในพื้นที่ที่เป็นเมืองโบราณในสมัยทวารวดีอีกหลายแห่งด้วยกัน เช่น ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กรุพระบรมธาตุนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น ซึ่งการพบพระพิมพ์ดินเผาจากแม่พิมพ์เดียวกันเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการติดต่อเชื่อมโยงกันระหว่างชุมชนโบราณในสมัยทวารวดีได้เป็นอย่างดี
           พระพิมพ์ถือได้ว่าเป็นโบราณวัตถุสำคัญอย่างหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา โดยการริเริ่มสร้างพระพิมพ์นั้นเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-11 สมัยราชวงศ์คุปตะ ซึ่งถือเป็นยุคทองของศิลปะอินเดีย คติในการสร้างพระพิมพ์ แต่เดิมคงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ระลึก แสดงถึงการที่พุทธศาสนิกชนได้ไปบูชาสังเวชนียสถานทางพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย 4 แห่ง คือ สถานที่ประสูติ (สวนลุมพินี) สถานที่ตรัสรู้ (ตำบลพุทธคยา) สถานที่แสดงปฐมเทศนา (ตำบลสารนาถ) และสถานที่ปรินิพพาน (เมืองกุสินารา)
           ต่อมาได้พัฒนาจนกลายเป็นการสร้างเพื่อการทำบุญ และอุทิศบุญกุศลแด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว (คติแบบมหายาน) และน่าจะถูกสร้างขึ้นเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาด้วย (คติแบบเถรวาท) เพราะในทางพระพุทธศาสนาเชื่อกันว่า พระพุทธศาสนาจะเสื่อมลงเมื่อครบอายุ 5,000 ปี จึงได้คิดสร้างพระพิมพ์และนำไปฝังไว้ในถ้ำหรือสถูปต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยหวังว่าในอนาคตหากมีผู้บังเอิญขุดพบพระพิมพ์ที่มีรูปของพระพุทธเจ้าหรือหลักธรรมของพระองค์ พระพิมพ์นั้นอาจเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสและเชื่อถือในศาสนาพุทธอีกครั้ง
          ความนิยมในการสร้างพระพิมพ์ในประเทศอินเดีย ได้ส่งอิทธิพลต่อดินแดนที่รับนับถือพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากหลักฐานการขุดค้นพบพระพิมพ์ตามแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงถือได้ว่าพระพิมพ์เป็นโบราณวัตถุสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถพบได้โดยทั่วไปในดินแดนที่รับนับถือพระพุทธศาสนา เพราะว่าเป็นสิ่งแทนสัญลักษณ์สำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาในรูปของวัตถุขนาดย่อม สามารถเคลื่อนย้ายนำไปยังที่ต่าง ๆ ได้ง่าย อีกทั้งขั้นตอนในการสร้างก็ไม่ยุ่งยากเหมือนอย่างประติมากรรมรูปแบบอื่น ๆ ....................................................................................
เรียบเรียง/กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ และนางสาวจันทร์สุดา ทองขุนแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรม/ ฝ่ายวิชาการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
....................................................................................
อ้างอิง :
1. ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน : กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546. 2. นิติพันธุ์ ศิริทรัพย์. “พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดีที่นครปฐม.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524. 3. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2556. 4. วิริยา อุทธิเสน. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำชีตอนกลาง กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546. 5. สันติ เล็กสุขุม. ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย (ฉบับย่อ): การเริ่มต้นและการสืบเนื่องงานช่างในศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548.

(จำนวนผู้เข้าชม 5717 ครั้ง)

Messenger