นิทรรศการถาวรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ข้อมูลที่บอกลักษณะเด่น ลักษณะเฉพาะที่มีในนิทรรศการที่จัดแสดง
การจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา แบ่งเป็น 3 อาคารจัดแสดง อาคารแรกจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องทอง พระพิมพ์ และพระพุทธรูป ส่วนอาคาร 2 จัดแสดงภาชนะดินเผาสมัยต่างๆ และอาคาร 3 จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน
อาคารแรกถือเป็นอาคารจัดแสดงหลักของพิพิธภัณฑ์ โดยชั้นล่างเน้นการจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทพระพุทธรูปซึ่งมีทั้งสมัยทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย และอยุธยา พระพุทธรูปชิ้นสำคัญคือ เศียรพระจากวัดธรรมิกราช ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาหรือในช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยา และพระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่ ศิลปะสมัยทวารวดี ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ที่บริเวณฐานพระเจดีย์ วัดพระเมรุ (ร้าง) จังหวัดนครปฐม นอกจากนั้นยังจัดแสดงงานเครื่องไม้ต่างๆ เช่น บานประตูแกะสลักรูปเทวดา จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ หน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ จากวัดแม่นางปลื้ม และครุฑโขนเรือ ซึ่งเป็นหัวเรือพระที่นั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ส่วนการจัดแสดงชั้นบนเน้นโบราณวัตถุที่พบจากกรุวัดมหาธาตุ และกรุวัดราชบูรณะ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง ทางฝั่งซ้ายมือหรือฝั่งทิศตะวันตกจัดแสดงพระบรมสารีริกธาตุจากวัดมหาธาตุ อยุธยา ซึ่งพบบรรจุอยู่ภายในผอบหินที่ฝังลึกลงไปในดินถึง 17เมตร ส่วนห้องจัดแสดงทางฝั่งขวามือหรือฝั่งทิศตะวันออกจัดแสดงโบราณวัตถุจากกรุวัดราชบูรณะ ซึ่งส่วนใหญ่ได้คืนจากการติดตามจับกุมผู้ร้ายที่ลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2500ประกอบด้วย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภคทองคำ เครื่องทรงถนิมพิมพาภรณ์ พระปรางค์ทองคำ พระเจดีย์ทองคำ เครื่องราชบรรณาการ และเครื่องอุทิศต่างๆ ในสมัยอยุธยาตอนต้น
พระบรมสารีริกธาตุ
พระแสงขรรค์ชัยศรี
(จำนวนผู้เข้าชม 1609 ครั้ง)