หนังใหญ่วัดขนอน การสืบสานมหรสพชั้นสูง : พระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
หนังใหญ่วัดขนอนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยอดีตเจ้าอาวาส คือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ท่านได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้างตัวหนัง ชุดแรกที่สร้างคือชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม ๙ ชุด ปัจจุบันมีตัวหนัง ๓๑๓ ตัว จากอดีตจนถึงปัจจุบันวัดขนอนได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการนำหนังใหญ่ไปแสดงเผยแพร่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ใน พ.ศ. ๒๕๓๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะในตัวหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์ตัวหนังใหญ่ทั้งหมด และจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรรับผิดชอบงานช่างจัดทำหนังใหญ่ทั้งหมด และได้นำหนังใหญ่ชุดใหม่ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ณ โรงละครแห่งชาติ และทรงพระราชทานให้ทางวัดขนอนนำมาใช้ในการแสดงต่อไป
สำหรับการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยศิลปากรดำเนินการ โดยได้ปรับปรุงบูรณะหมู่เรือนไทยที่เป็นกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่ชุดเก่าอย่างถูกวิธี สามารถใช้เป็นแหล่งค้นคว้าวิทยาการแขนงนี้แก่ผู้สนใจทั่วไป และใน พ.ศ. ๒๕๔๐ –๒๕๔๒ ได้ดำเนินการตกแต่งภายในเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
วัดขนอนได้เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจได้เข้าศึกษา เยี่ยมชมนิทรรศการหนังใหญ่ พร้อมทั้งการสาธิตการแสดงหนังใหญ่ ตลอดจนการฝึกเยาวชนให้เรียนรู้และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ เพื่อสนองโครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สืบต่อไป
เดิมทางวัดได้รวบรวมโบราณวัตถุ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด มีทั้งศาสนวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ อาทิ หีบพระธรรม พระธรรมคัมภีร์ พระบฏ เครื่องปั้นดินเผา มีโอ่ง หม้อน้ำ กระโถน กาน้ำชา เครื่องถ้วยชาม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเบญจรงค์และลายคราม ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นของใช้ภายในวัดที่ตกทอดสืบกันมา อีกส่วนหนึ่งตามประวัติของวัดขนอนที่เกี่ยวข้องกับด่านขนอน ด่านเก็บภาษีในสมัยโบราณกล่าวว่า เป็นส่วนที่เหลือจากการส่งเข้าท้องพระคลัง ที่นายด่านขนอนได้มอบเอาไว้เป็นสมบัติของวัด หลังจากที่ได้มีการเลิกด่านขนอน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และได้รักษาสืบทอดกันมา นับได้ว่านอกจากหนังใหญ่แล้ว วัดขนอนยังเป็นสถานที่รวบรวมองค์ความรู้หลากหลายแขนงของชุมชน นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี