...

พระราชลัญจกรสยามโลกัคราช

                     พระราชลัญจกรเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ไทย ที่ใช้ประทับกำกับบนเอกสารสำคัญต่าง ๆ พระราชลัญจกรแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน สำหรับประทับกำกับพระบรมนามาภิไธยในหนังสือสำคัญต่าง ๆ และพระราชลัญจกรในพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งต้องสร้างใหม่ทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนรัชกาล

                     พระราชลัญจกรสยามโลกัคราชเป็นตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำด้วยทองคำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีรูปช้างหมอบอยู่หลังบนที่จับประทับ คำว่า สยามโลกัคราชนั้น เป็นชื่อที่นำมาจากตัวอักษรจีนว่า เสียม-โล-ก๊ก-อ๋อง แปลว่า กษัตริย์ประเทศสยาม เลียนเสียงเป็น สฺยาม-โลก+อคฺค-ราช แปลว่า กษัตริย์สยามผู้ยิ่งใหญ่ ตัวอักษรจีนดังกล่าวปรากฏอยู่ในตราพระราชลัญจกรมหาโลโต ซึ่งเป็นตราประทับที่จักรพรรดิจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงมอบให้กับพระเจ้าแผ่นดินสยามสมัยอยุธยา ตราประทับเป็นรูปอูฐ ภาษาจีนกลางเรียกว่า ลั่วถัว (駱駝) ส่วนสำเนียงฮกเกี้ยนเรียกว่า โลโท เนื่องจากในราชสำนักสยามสมัยนั้น ขุนนางเชื้อสายจีนส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน จึงเป็นเหตุให้ภาษาจีนสำเนียงฮกเกี้ยนเป็นที่นิยมในราชสำนัก แต่อาจจะมีเพี้ยนเล็กน้อยเป็น “ตราโลโต” หรือ “ตราพระราชลัญจกรมหาโลโต” พระราชลัญจกรองค์นี้ใช้สำหรับประทับบนพระราชสาสน์อักษรจีน เพื่อแสดงฐานะว่า เจ้าแผ่นดินสยามเป็น "อ๋อง" (หวาง) ภายใต้อารักขาของ "ฮ่องเต้" (หวางตี้หรือจักรพรรดิ) ภายในดวงตราพระราชลัญจกรสยามโลกัคราชทำรูปเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และแกะสลักอักษรขอม ๔ บรรทัด เป็นตราที่ทำเลียนแบบตราพระราชลัญกรมหาโลโต

                     เดิมพระราชลัญจกรสยามโลกัคราชใช้สำหรับประทับตราสัญญาบัตร (ใบตั้งยศหรือบรรดาศักดิ์ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง) คู่ด้วยพระบรมราชโองการ และใช้ในการพระราชทานวิสุงคามสีมา ภายหลังพระราชลัญจกรสยามโลกัคราชใช้สำหรับพระราชทานวิสุงคามสีมาเท่านั้น ดังปรากฏในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ระบุว่า “พระราชลัญจกรสยามโลกัคราช สำหรับประทับวิสุงคามสีมาในหว่างกลางองค์เดียว”

 


เปรียบเทียบพระราชลัญจกรสยามโลกัคราชและพระราชลัญจกรมหาโลโต
ที่มา https://www.silpa-mag.com/culture/article_6938         



เปรมา สัตยาวุฒิพงศ์

นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ

กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

(จำนวนผู้เข้าชม 2072 ครั้ง)